สาเหตุสำคัญที่ชาวตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลาบางส่วน คัดค้านการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยา มูลค่ากว่า1,000 ล้านบาท ของกรมชลประทาน เพราะโครงการนี้ได้ก่อสร้างผ่านกลางชุมชน กินเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ ทำให้ชุมชนดั้งเดิมต้องย้ายออก และพื้นที่ก่อสร้างบางส่วนยังพาดผ่านสุสานจีนเก่า รวมทั้งพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก
ทุกเช้า ยายจู้ หรือ นางกัลยา ไชยรัตน์ พร้อมพร้าคู่ใจ จะออกไปทำสวนยาง สวนผลไม้ทั้งเงาะ และทุเรียน แม้ว่าวันนี้จะมีความหวาดหวั่น หลังรู้ว่า โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพระยา จังหวัดยะลา งบประมาณเกือบ 1,000 ล้านบาทจะถูกก่อสร้างผ่านบ้านและที่สวนหลายสิบไร่ของเธอ ที่ตั้งใจเก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน ที่ออกไปศึกษานอกพื้นที่ ได้กลับมาทำมากินและดูแลแม่ในวัยชรา
ถ้าบังคับให้ย้าย ก็จะนั่งในที่ของฉันไม่ให้รถขุด ขุดได้ ขุดไปทั้งคน แม่ตัดสินใจแล้วว่าแม่ไม่ขาย ถ้าเอารถแบคโฮมาเมื่อเข้าสวนเมื่อไหร ก็จะไปเฝ้าสวน
ไม่แตกต่างไปจากลุงนันต์ หรือ นายอนันต์ นิลรัตน์ ยังขับรถจักรยานยนต์คันเก่าไปทำสวน และไม่ลืมที่จะแวะเวียนไปดูแลหลุมฝังศพของบรรพบุรุษเชื้อสายจีนในสุสานเก่าแก่อายุมากกว่า 100 ปี
ลุงนันต์บอกว่า เสียใจอย่างมากเมื่อรู้ว่า สันเขื่อนอ่างเก็บน้ำ จะพาดผ่านหลุมฝังศพของบรรพบุรษ เเละที่ดินอีกเกือบ 1,000 ไร่กลางชุมชน ที่ต้องจมใต้อ่างเก็บน้ำ
สร้างอ่างฯ ตรงนี้ขึ้นมา ไม่ได้เจ็บปวดแค่ชาวบ้าน แต่เจ็บปวดไปถึงบรรพบุรุษ ชาวบ้านเขาเรียกว่าเจ็บปวดไปถึงผีสาง
ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านพยายามรวมตัวเพื่อต่อสู้คัดค้านโครงการจนได้รับแจ้งว่าจะชะลอโครงการไปก่อนแต่เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ทางจังหวัดยะลา กลับเชิญตัวแทนชาวบ้านบางคนมาทำความเข้า ใจ เพื่อจ่ายเงินชดเชยสำหรับผู้ที่ยินยอมให้เวนคืนที่ดิน
โครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยา ถูกเสนอโดยชลประทานยะลา ตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งในขณะนั้น ชลประทานให้ข้อมูลว่า พื้นที่ดังกล่าว มีเพียงการเกษตรที่ปลูกมะนาว กล้วย พริก และสับปะรด และชาวบ้านก็เดือดร้อนจากสภาวะขาดน้ำ
ซึ่งขัดกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน เพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางการเกษตรขนาดใหญ่ ทั้งสวนผลไม้ และยางพารา ซึ่งปัจจุบัน มีฝายทดน้ำนบฝรั่งบนภูเขาเหนือพื้นที่ในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นเขื่อนเดิมที่ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2472 เมื่อครั้งที่ชาวต่างชาติได้เข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุก
ส่วนพื้นที่ด่านล่างก็มีการฝายทดน้ำลำพะยา แต่ทั้งสองส่วนกลับมีการบริหารจัดการนำได้ไม่ดีมากนัก ชาวบ้านจึงคัดค้านเรื่อยมา โดยได้ยื่นหนังสือไปหลายหน่วยงาน ทั้งจังหวัดยะลา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกรมชลประทาน และถวายฎีกาผ่านสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการพระราชดำริ เพราะไม่เห็นด้วยกับโครงการและไม่อนุญาตให้เข้ามารังวัดที่ดิน
จนกระทั่งชาวบ้าน ได้รับแจ้งจากทางว่า โครงการนี้ได้ชะลอไปแล้ว แต่เมื่อวันที่ต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมาทางจังหวัดกลับมีการเรียกประชุม อีกครั้ง เพื่อขอให้ชาวบ้านมารับทราบแนวทางการชดเชยค่าเวนคืนในโครงการนี้ โดยผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่มีเอกสารสิทธิในการถือครองที่ดินจำนวน 15 ราย กลับไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุม
ทั้งนี้ โครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยา วางแผนจะเริ่มดำเนินการในปีนี้ ไปจนถึงปี 2564 งบประมาณ 990 ล้านบาท โดยปีแรกจะใช้เงิน 10 ล้านบาท เพื่อทำการศึกษาโครงการ และใช้งบ 100 ล้านบาทจัดซื้อที่ดิน ในปีถัดไปจะใช้งบประมาณ 200 ล้าน 350 ล้าน และ 450 ล้านตามลำดับ เพื่อดำเนินการก่อสร้างเขื่อนดินสูงประมาณ 33 เมตร 42 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1,500 เมตร
โดยคาดหวังจะสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 14 ล้านลูกบาศเมตร บนเนื้อที่เกือบ 1,000 ไร่ แต่ปัจจุบันยังมีชาวบ้านที่เป็นเจ้าของในชุมชนบนเนื้อที่กว่า 400 ไร่ไม่ยินยอม