ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แพทย์เตือน "สักเถื่อน" เสี่ยงติด HIV มากกว่าร่วมเพศ

สังคม
3 ก.ย. 61
17:18
5,394
Logo Thai PBS
แพทย์เตือน "สักเถื่อน" เสี่ยงติด HIV มากกว่าร่วมเพศ
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง เตือนการสักลายในร้านที่ไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียเชื้อรา และไวรัส โดยเฉพาะเชื้อ HIV ซึ่งมีเข็มสักเป็นตัวกลางถ่ายทอดจากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่งได้ง่าย มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าการมีเพศสัมพันธ์

วันนี้ (3 ก.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีหญิงสาวอายุ 22 ปี ติดเชื้อ HIV เสียชีวิต โดยญาติอ้างว่าหญิงสาวได้ไปสักลายที่ตลาดนัดคลองหลอด กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือน มี.ค. โดย พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ระบุว่า การสัก คือ การใช้เข็มจิ้มลงไปบนผิวหนัง ซึ่งจะทำให้เกิดแผลขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทั้งเชื้อรา เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และอาจเกิดอาการแพ้สีที่ใช้ในการสัก รวมถึงอาจเกิดอาการทางผิวหนังอื่นๆ 

สำหรับความเสี่ยงในการติดเชื้อเอดส์ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง ระบุว่า การสักเป็นการทำให้เกิดแผล เมื่อมีแผลทำให้เกิดเลือด ดังนั้น หากไปร้านสักที่คนก่อนหน้ามีเชื้อ HIV แล้วร้านนั้นไม่ได้มาตรฐานไม่มีการเปลี่ยนเข็ม ไม่ดูแลเครื่องมืออื่นๆ ให้ปราศจากเชื้อ

เหมือนกับมีใครเอาเข็มที่ติดเชื้อ HIV มาจิ้มเรา มันเสี่ยงมากกว่าการร่วมเพศอีก เพราะการร่วมเพศหากไม่มีแผลถลอกหรือไม่มีเลือด อัตราเสี่ยงน้อยกว่าการสักด้วยเข็มที่มีเลือดผู้ติดเชื้อค้างอยู่ พูดง่ายๆ คือ เป็นการติดเชื้อระหว่างบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่งโดยมีเข็มสักเป็นตัวกลาง

ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง เปิดเผยว่า กรณีร้านสักเสริมความงามทั่วไปจากที่ก่อนหน้านี้ พบว่ามีการเปิดให้บริการเป็นหลักร้อย แต่ปัจจุบันมีร้านสักเสริมความงามแล้วกว่า 1,000 แห่ง อัตราการเพิ่มของช่างสักเพื่อเสริมความงามมันมากขึ้นและกระจายตัวไปทั่วพื้นที่ การเข้าไปดูแลควบคุมจึงค่อนข้างลำบาก อีกทั้งการอนุญาตให้เปิดร้านสักลายอยู่ในอำนาจของส่วนท้องถิ่น จึงทำให้กระทรวงสาธารณสุขควบคุมได้ยาก


ขณะที่ปัจจุบันปัญหาที่พบมากขึ้น คือ การเลือกสักลายในตำแหน่งที่ไม่ปกติ เนื่องจากสมัยก่อนนิยมสักยันต์ตามลำตัว และเริ่มเปลี่ยนเป็นการสักคิ้วตามสมัยนิยม

ปัจจุบันเริ่มมีการสักตามช่องเปิดต่างๆ ทั้งริมฝีปาก อวัยวะเพศ ซึ่งบริเวณเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อกว่าบริเวณอื่น

เนื่องจากมีสารคัดหลั่งและเชื้อโรคบริเวณนั้นจำนวนมาก อีกทั้งการดูแลแผลหลังจากสักค่อนข้างลำบาก ซึ่งจะทำให้อัตราการเกิดผลข้างเคียงหรือผลแทรกซ้อนเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการจะสักลาย พญ.มิ่งขวัญ ระบุว่า ผู้บริโภคควรสอบถามความรู้สึกของตนเองให้มั่นใจว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสักลายจริง เนื่องจากหลังการสักลายส่วนใหญ่มักพบว่า มีผู้ที่รู้สึกเสียใจและต้องการลบรอยสัก ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้มีราคาสูงมากและเสียเวลามากกว่า ถ้าสัก 1 ครั้ง ราคาอยู่ที่ 1,000 บาท แต่หากต้องการลบรอยสัก ต้องทำการลบ 3-6 ครั้ง แต่ละครั้งต้องลบห่างกันประมาณ 1 เดือน ค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000 บาท

พญ.มิ่งขวัญ ย้ำว่า หากต้องการสักลายจริงๆ ควรเลือกร้านสักลายที่มีการดูแลให้ปราศจากเชื้อ ตรวจสอบให้ชัดเจนว่ามีการเปลี่ยนเข็มสักแน่นอน และใช้กับตัวเราเป็นเคสแรก รวมทั้งดูกระบวนการทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ นอกเหนือจากเข็ม และต้องตรวจสอบสีที่จะใช้ในการสักด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการใช้สีผสมอาหารแต่ในปัจจุบันมีการใช้สีที่ใช้ในอุตสาหกรรมมากขึ้น เนื่องจากสีเหล่านี้เป็นสีสดเพราะมีการใส่โลหะหนักเข้าไป ซึ่งจะส่งผลกระตุ้นการก่อมะเร็งได้ 

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันหญิงเสียชีวิตติดเชื้อ HIV ก่อนสักลาย

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง