วันนี้ (4 ก.ย.2561) ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์กรย่อย สมัยเพิ่มเติม ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ โดยมีตัวแทนภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม ร่วม 2,000 คน กว่า 180 ประเทศเข้าร่วม เพื่อจัดทำแนวปฏิบัติความตกลงปารีสให้แล้วเสร็จก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่ที่โปแลนด์ช่วงปลายปีนี้
ตั้งแต่ประเทศสมาชิกร่วมลงนามความตกลงปารีสในปี 2558 แม้จะมีการประชุมเจรจาต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ยังไม่สามารถกำหนดแนวทางปฏิบัติของประเทศสมาชิก เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพถูมิอากาศได้อย่างชัดเจน
แพทริเซีย เอสปิโนซา เลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC ระบุว่า การประชุมที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ตั้งเป้าหมายให้มีการพูดคุยลงรายละเอียดการกำหนดแนวทางปฏิบัติ ครอบคลุมทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวของประเทศต่างๆ และเงินทุนสนับสนุนของประเทศกำลังพัฒนา โดยหวังว่าการเจรจาในครั้งนี้จะสามารถสร้างความสมดุลระหว่างข้อเรียกร้องต่างๆ ของประเทศต่างๆ ได้
ประเทศไทยร่วมลงนามและให้สัตยาบันในความตกลงปารีส เมื่อปี 2558 มีการเดินหน้าทำแผนระดับชาติการปรับตัวของประเทศเพื่อรองรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ภาคประชาสังคมคาดหวังว่าเวทีเจรจาระดับโลกจะเปิดพื้นที่ให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบมากขึ้น
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า ในขณะที่การเจรจาดำเนินไป ก็ได้เห็นผลกระทบโลกร้อนที่เกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม จึงไม่สามารถละเลยได้ อีกทั้งยังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
ความตกลงปารีสจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิก ต้องวางบทบาทการมีส่วนรวมของภาคประชาชนที่ชัดเจนขึ้น
ขณะเดียวกันระหว่างจัดการประชุมในครั้งนี้ มีเครือข่ายภาคประชาสังคมนานาชาติรวมตัวบริเวณภายนอกอาคารสหประชาชาติ เดินขบวนแสดงสัญลักษณ์เรียกร้องให้ภาครัฐ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา แสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก