ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สภาเภสัชกรรมยึดกฎหมายเดิม หนุน 3 วิชาชีพจ่ายยาเท่านั้น

สังคม
4 ก.ย. 61
18:47
2,689
Logo Thai PBS
สภาเภสัชกรรมยึดกฎหมายเดิม หนุน 3 วิชาชีพจ่ายยาเท่านั้น
สภาเภสัชกรรมและคณบดีคณะเภสัชศาสตร์จากสถาบันการศึกษา หนุนยึด พ.ร.บ.ยาฉบับเดิม กำหนดให้ 3 วิชาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ สามารถจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้เท่านั้น พร้อมให้ทบทวนการจัดแบ่งประเภทยาใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ชี้ไม่สอดคล้องหลักสากล

วันนี้ (4 ก.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดกรณีเห็นต่างจากวิชาชีพต่อร่างพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่ ทำให้กลุ่มเภสัชกรหลายสถาบันออกมาคัดค้าน และแสดงความกังวลในประเด็นที่ยังเห็นต่าง ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ประชุมหารือร่วมกับนายกสภาเภสัชกรรมและคณบดีคณะเภสัชศาสตร์จากสถาบันการศึกษา ได้ข้อสรุปในประเด็นเห็นต่างเรื่องการจ่ายยา โดยให้ยึดกฎหมายยาเดิม ที่ให้เฉพาะ 3 วิชาชีพจ่ายยาได้

ภายหลังการประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ประเด็นที่ยังมีข้อกังวลใจในร่างพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่ ของกลุ่มเภสัชกร หลักๆ มีอยู่ 2 เรื่อง คือ การเปิดให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นสามารถจ่ายยาเพิ่มได้ ทำให้ไม่มีการตรวจสอบระหว่างผู้สั่งจ่ายและผู้จ่ายยา ความปลอดภัยก็จะน้อยลง


ที่ประชุมจึงตกลงร่วมกันว่าให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติยาปี 2510 มาตรา 13(3) กำหนดให้ 3 วิชาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ สามารถจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้ 

ส่วนเรื่องที่ 2 คือ การจัดแบ่งกลุ่มประเภทยาซึ่งร่างยาฉบับใหม่ ได้เพิ่มเติมกลุ่มยาที่ไม่สอดคล้องตามหลักสากลและแนวทางปฏิบัติยังไม่มีความชัดเจน อาจกระทบกับความปลอดภัยของประชาชนได้ ที่ประชุมจะนำข้อเสนอทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมการ ร่าง พ.ร.บ.ยา ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และจะนำข้อเสนอนี้ประกอบการพิจารณาของ ครม.ไปพร้อมๆ กับร่างกฎหมายยาที่เสนอไปก่อนหน้านี้

ขณะที่ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า ตามหลักสากลมีการแบ่งยาเป็น 3 กลุ่ม คือ ยาควบคุมพิเศษ  ยาอันตราย และยาสามัญประจำบ้าน โดยต้องมีใบสั่งยา ส่วนร้านขายยาประเภทที่ 2 (ขย.2) ซึ่งเป็นร้านขายยาบรรจุเสร็จ ตรงนี้ต้องไปเขียนเพิ่มเติมในบทเฉพาะกาลให้ชัดเจนว่าเป็นยาประเภทใด และไม่ต้องมีใบสั่งยา


ส่วนเรื่องการโฆษณายาที่กลุ่มเภสัชฯ เสนอให้เป็นระบบของการขออนุญาตเท่านั้นไม่ใช่ทำเพียงการจดแจ้ง จะทำสรุปข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

ส่วนเภสัชกรจิระ วิภาสวงศ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทย พอใจผลหารือระดับหนึ่ง ยืนยันว่าเภสัชไม่ได้คัดค้านการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา ทั้งฉบับ แต่มีบางประเด็นที่ต้องปรับแก้ให้เหมาะสม โดยเภสัชกรรม มีกฎระเบียบควบคุมอยู่แล้วว่าต้องอยู่ประจำร้านขายยา 

ส่วนเรื่องการแบ่งประเภทยา เภสัชกรค้านกลุ่มยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษ ตั้งข้อสังเกตว่า จัดเป็นร้าน ขย.2 หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2,800 แห่ง ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะเชิญวิชาชีพอื่นๆ มาร่วมหารือเพิ่มเติมหรือไม่นั้นขณะนี้ยังไม่มีการกำหนด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง