ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

6 มาตรการ ป้องกันระบบธนาคารดิจิทัลล่ม

เศรษฐกิจ
6 ก.ย. 61
10:03
1,615
Logo Thai PBS
6 มาตรการ ป้องกันระบบธนาคารดิจิทัลล่ม
สมาชิกสมาคมธนาคารไทยและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมหารือมาตรการลดผลกระทบจากเหตุขัดข้องในการใช้บริการธนาคารของลูกค้า สรุป 6 แนวทางการให้บริการด้านดิจิทัล

วันนี้ (6 ก.ย.2561) นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (เคบีทีจี) ในฐานะประธานชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมธนาคารไทย ระบุหลังการหารือร่วมกันระหว่างสมาชิกสมาคมธนาคารไทย กับตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าร่วมสังเกตการณ์ สำหรับแนวทางการให้บริการด้านดิจิทัล 6 เรื่องเพื่อลดผลกระทบจากเหตุขัดข้องในการใช้บริการธนาคารของลูกค้า

ประกอบด้วย 1. เพิ่มความแข็งแรงให้กับระบบ ขจัดปัญหาคอขวด เพื่อให้ระบบโมบายแบงก์กิ้ง สามารถรองรับปริมาณการใช้บริการได้อย่างน้อย 2 เท่าของช่วงเวลาที่มีปริมาณธุรกรรมสูงสุด

2.การจัดการระบบภายในของแต่ละธนาคาร ให้เพิ่มมาตรการควบคุมเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบ และมีการจัดการที่รัดกุมมากขึ้น

3. เพิ่มความสามารถของบริษัทกลางที่ดูแลการเชื่อมต่อระบบระหว่างธนาคาร หรือ ITMX (ไอทีเอ็มเอ็กซ์) เป็นอย่างน้อย 2 เท่าของระบบปัจจุบัน เพื่อรองรับธุรกรรมข้ามธนาคารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากการใช้นโยบายฟรีค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมข้ามธนาคาร

4.ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างธนาคารและ ITMX ในการกำหนดเงื่อนไขและแนวทางที่ชัดเจน ในการตัดธนาคารที่ระบบขัดข้องออกจากระบบกลางชั่วคราว เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามจนส่งผลกระทบต่อโครงข่ายบริษัทกลางและธนาคารอื่น และสามารถเชื่อมต่อกลับทันทีเมื่อมีการจัดการระบบให้สามารถบริการได้ตามปกติแล้ว


5.สร้างความสามารถในการติดตามการทำงานของระบบในภาพรวม โดยให้มีการพัฒนา Dash board กลางสำหรับแสดงสถานะระบบของแต่ละธนาคาร ให้ธนาคารสมาชิกทราบเพื่อความรวดเร็วในการเตรียมการและแก้ไขปัญหา

และ 6.ทบทวนการออกแบบระบบโมบายแบงก์กิ้ง การแสดงข้อความสถานะของธุรกรรมให้ชัดเจน เข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการได้โดยไม่สับสน

นอกจากนี้นายสมคิดยังกล่าวว่า จากนี้โมบายแบงก์กิ้งของธนาคารต่างๆ ต้องแจ้งให้ชัดว่าเกิดปัญหาอะไร ทำให้ลูกค้าไม่สามารถทำธุรกรรมได้ เช่น ใส่เบอร์บัญชีผิด ไม่ใช่ระบุเพียงระบบขัดข้องโปรดทำรายการใหม่ เพราะลูกค้าจะไม่รู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร และกดทำซ้ำจนเป็นธุรกรรมเทียมเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อระบบในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ประธานชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมธนาคารไทย บอกว่า ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ระบบขัดข้องในช่วงสิ้นเดือนอีก แต่ยืนยันว่าจะระวังอย่างดีที่สุดเพื่อป้องกันปัญหา และจะพยายามเพิ่มความสามารถรองรับมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมาตรการที่ออกมาเชื่อว่าเมื่อเกิดเหตุขัดข้องขึ้นอีกจะช่วยจัดการให้ระบบกลับมาให้บริการได้เร็วที่สุด

นอกจากการวาง 6 มาตรการแล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่ธนาคารกสิกรไทย ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจและขอรับผิด กรณีที่เป็นต้นเหตุทำให้ระบบธนาคารดิจิทัลของหลายธนาคารขัดข้อง

นอกจากนี้ยังได้อธิบายถึงสาเหตุที่เกิดความขัดข้องที่เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ดูแลระบบของธนาคาร ก่อนจะลามไปยังระบบของธนาคารแห่งอื่นๆ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. แต่สำหรับความขัดข้องในวันที่ 1 ก.ย. ธนาคารให้เหตุผลว่า ความขัดข้องเกิดจากฝั่งผู้ใช้งาน แต่ก็กระทบกับระบบโดยรวม

ธุรกรรม 5 ล้านรายการชะงัก อีแบงก์กิ้งกสิกรล่ม

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ประธานกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ในฐานะประธานชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมธนาคารไทย ยอมรับว่า เหตุการณ์วันที่ 31 ส.ค. มีจุดเริ่มต้นมาจากธนาคารกสิกรไทย ที่เจ้าหน้าที่ดูแลระบบพยายามเข้าไปจัดการปัญหาในระบบแต่ผิดพลาด จนทำให้อุปกรณ์เครือข่ายหลัก (Core Switch) ของธนาคารกสิกรไทยไม่สามารถทำงานได้ตั้งแต่เวลา 06.30 น.


จากนั้นบริษัทกลางที่ดูแลการเชื่อมต่อระบบระหว่างธนาคารหรือ ITMX จึงได้ตัดระบบของธนาคารกสิกรไทยออกจากระบบกลางในเวลา 06.31 น. ธนาคารได้เร่งแก้ไขจนกลับมาใช้ได้ปกติเมื่อเวลา 11.05 น. โดยวันที่ 31 พบว่ามีปริมาณธุรกรรมมากถึง 5,360,000 รายการที่ไม่สามารถทำได้ ส่วนการล่มของธนาคารอื่นไม่ขอยืนยันว่าเกิดมาจากการล่มของธนาคารกสิกรไทย 

ส่วนวันที่ 1 ก.ย. เกิดจากมีผู้ใช้บริการทำธุรกรรมโอนเงินผิดรหัสกว่า 40,000 รายการตลอดวัน โดยกรอกเบอร์โทรศัพท์ในช่องเลขรหัสบัญชีแทน ส่งผลให้ ITMX ตัดระบบดิจิทัลของธนาคารออกจากระบบกลางทันทีเมื่อเวลา 10.15 น.


ธนาคารจึงเปลี่ยนไปใช้อีกระบบทดแทนแต่ก็ทำให้ผู้ใช้บริการที่โอนต่างธนาคารไม่สามารถโอนเงินเข้าธนาคารกสิกรไทยได้ และสามารถแก้ไขสำเร็จ เมื่อเวลา 16.11 น.ในวันเดียวกัน

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ขอรับผิดและเสียใจกับเหตุที่เกิดขึ้น แต่ยืนยันว่าระบบที่ล่มต่อเนื่องสองวันติดไม่ได้เกิดจากตัวระบบของธนาคารกสิกรไทย และไม่ได้ส่งผลเสียหายเป็นมูลค่าเงิน แต่ส่งผลให้การทำธุรกรรมล่าช้า 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง