วันนี้ (7 ก.ย.2561) กรณีที่กระทรวงวัฒนธรรม จัดกิจกรรม 13 ชีวิต ทีมหมูป่า อะคาเดมีพบสื่อ มวลชน เพื่อเป็นการถอดบทเรียนจากการปฏิบัติงานให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนได้เรียนรู้และตระ หนักถึงความมีน้ำใจจิตอาสา และสามัคคีที่ไลฟ์สไตล์ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
โดยวานนี้ (6 ก.ย.) มีภาพที่ปรากฎในโซเซียล และถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีให้เด็ก 12 คน มุดถ้ำจำลอง ซึ่งเป็นหนึ่งในนิทรรศการปฏิบัติการถ้ำหลวง วาระแห่งโลก ในโซนที่ 2 ที่มีชื่อว่า "นาทีชีวิต วิกฤตเสี่ยงตาย" ซึ่งยกเว้นพระเอกพล วิสารโท ที่ไม่ได้มุดถ้ำจำลองครั้งนี้
จากการที่ผู้สื่อข่าวสังเกตการณ์พบว่าถ้ำจำลองซึ่งมีความยาวประมาณ 3 เมตรกว้างประมาณ 1 เมตร สูงประมาณ 80 เซนติเมตร โดยภายในถ้ำจำลองเป็นหินขรุขระ และมืดต้องใช้ไฟส่องสว่าง และจากการสังเกตถือว่าจุดนี้ได้รับความสนใจจากผู้ที่มาชมนิทรรศการจำนวนมาก เพราะถือเป็นไฮไลต์ใน 7 โซนนิทรรศการที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดขึ้น
จิตแพทย์ ชี้ "มุดถ้ำจำลอง"สะกิดความเครียด
กิจกรรมดังกล่าวได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างมาก แอดมินเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือ หมอโอ๋ ก็ได้โพสต์ทางเพจว่า “นักเตะเยาวชนทีมหมูป่าทั้ง 12 คน ต้องสัมผัสความมืด แคบ คดเคี้ยว อีกครั้ง เมื่อถูกเชื้อเชิญให้มุดเข้า "ถ้ำหลวงจำลอง" ซึ่งจัดแสดงไว้ที่โซนที่ 2 "นาทีชีวิตวิกฤตเสี่ยงตาย”
โดยระบุว่า ภายใต้รอยยิ้มร่า ไม่ได้หมายความว่าไม่มีบาดแผล บาดแผลหลายบาดแผล มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มองไม่เห็น ..ไม่ได้แปลว่าไม่มี บาดแผลหลายบาดแผล หายได้ ถ้าไม่ไปสะกิดซ้ำๆ
การที่ทีมหมูป่าต้องเจอเรื่องยากลำบาก กระทบกระเทือนจิตใจ อาจไม่ใช่เรื่องที่ควรนำมาพูดถึงด้วยความสนุกสนาน
เราไม่จัดเหตุการณ์จำลอง เอาไม้มาตีกันแรงๆ เพื่อการเรียนรู้ว่าเด็กที่ถูกกระทำรู้สึกอย่างไร เราไม่จัดเหตุการณ์จำลองการถูกข่มขืน เพื่อให้ผู้คนเรียนรู้ว่ามันเจ็บปวดแค่ไหน เหตุการณ์คับขันในชีวิตคนอื่น มันอาจไม่ใช่เรื่องสนุกของพวกเค้า
การสร้างถ้ำจำลอง โดยให้ทีมหมูป่าลองเข้าไปใหม่ ไม่แน่ใจว่าจะเกิดประโยชน์และพัฒนาอะไรให้กับพวกเค้าจริงๆแต่อาจเสี่ยงซ้ำรอยสะกิดแผลเก่าๆ ของเด็กๆ หลายคน
แผลเก่า.. ที่อาจมองไม่เห็นผ่านรอยยิ้ม
PTSD (post traumatic stress disorder) ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และผ่านไปง่ายๆ (ไม่ได้แปลว่าในทีมจะมีใครเป็น) มันบั่นทอนการใช้ชีวิต กระบวนการคิด และหลายครั้งก็เรื้อรังจนส่งผลเสียหาย
คงจะดีถ้าคนจะมองประโยชน์และโทษที่จะเกิดกับเด็กๆ เหล่านี้
มากกว่าความบันเทิงที่จะได้รับ กับตัวเอง
กระทรวงวัฒนธรรม จ่อชี้แจงสื่อ
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้พูดคุยและซักถามคำถามเปิดใจทีมหมูป่าระบุสั้นๆว่า เห็นข่าวนี้แล้ว ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น แต่หลังจากเป็นพิธีกรแล้วไม่ได้เดินตามเด็กๆและทีมของกระทรวงวัฒนธรรมไปดูนิทรรศการดังกล่าว
ขณะที่จากการสอบถามไปยังกระทรวงวัฒนธรรม บอกว่าทางผู้บริหารทราบเรื่องนี้แล้ว และหารือกันว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้เบื้องต้นจากกำหนดการเชิญสื่อ ไม่ได้ระบุว่าจะมีการพาเด็กทีมหมูป่าไปดูนทรรศการทั้ง 7 โซนที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดขึ้น
สำหรับ PTSD คืออาการความเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ 70% ของเหตุการณ์สะเทือนใจที่เกิดจากมนุษย์ด้วยกันเองไม่ว่าจะเกิดขึ้นต่อผู้ป่วยโดยตรงหรือคนรอบข้าง ล้วนมีผลก่อให้เกิดอาการโรค PTSD มาก
อ่านข่าวเพิ่มเติม
งานรวมใจเป็นหนึ่งเดียว ขอบคุณฮีโร่ถ้ำหลวง
เปิดใจทีมหมูป่า มุ่ง "พาไทย" ไปบอลโลก