ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อนาคต "เขื่อนลาว" หยุดหรือสร้างต่อ?

ภัยพิบัติ
11 ก.ย. 61
17:47
616
Logo Thai PBS
อนาคต "เขื่อนลาว" หยุดหรือสร้างต่อ?
ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์ รศ.ดร. สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างเขื่อนของไทย กับอนาคตเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ของลาวหลังแตกว่าควรจะหยุดหรือเดินหน้าต่อ ท่ามกลางข้อกัง วลความปลอดภัย

หลังเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย หรือบริเวณเขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำแตก (saddledam) ทำให้มีมวลน้ำ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ทะลักออกมาท่วม 13 หมู่บ้านท้ายเขื่อน และมี 6 หมู่บ้านได้รับความเสียหายหนัก บ้านทรัพย์สิน ชีวิต ถูกกระแสน้ำพัดหายไปกับสายน้ำเซเปียนราวกับสึนามิ เมื่อเวลา 20.00 น ของวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 คน สูญหายอีก 66 คน มีผู้ประสบภัยที่ยังไร้บ้านกว่า 6,000 คน

เรื่องนี้กำลังถูกจับตามองจากคนทั่วโลกว่ารัฐบาลลาวจะทำอย่างไรต่อ จะหยุดหรือเดินหน้าสร้างต่อไปทีมข่าวไทยพีบีเอส ได้สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร. สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างเขื่อนของไทย

 


รศ.สุทธิศักดิ์บอก "ผมไม่สามารถตอบแทนรัฐบาลลาวได้" แต่หากรัฐบาลลาวจะเดินหน้าเป็น "แบตเตอรี่แห่งเอเชีย" และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยต่อ แนวทางที่สามารถทำได้ตามหลักวิชาการ เมื่อเขื่อนเกิดการวิบัติ คือ 1. ปรับปรุงซ่อมแซม จุดที่เสียหาย แต่ก็ต้องให้กระบวนการสืบสวนสอบสวน หาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เขื่อนแตกเกิดจากอะไรให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งตอนนี้รัฐบาลลาว อยู่ระหว่างการให้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศตรวจสอบ คาดใช้ระยะเวลา 3-4 เดือนหลังจากนี้ในการหาสาเหตุที่แท้จริง ต้องอาศัยจังหวะในฤดูแล้งหน้าเร่งสืบสวนให้เสร็จ ก่อนที่น้ำจะมา

ส่วนแนวทางที่ 2 คือ ย้ายไปสร้างจุดใหม่ หมายถึงย้ายเฉพาะส่วนที่เสียหาย หากว่าพื้นที่เดิมถูกประเมินว่าไม่มีความปลอดภัยที่จะสร้างต่อแล้ว ก็ต้องย้ายไปสร้างจุดใหม่ แต่ไม่ใช่ย้ายทั้งเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แต่เป็นการย้ายจุดกักเก็บน้ำใหม่

ลาวจะต้องซ่อมแซมจุดเดิมด้วย เพราะหากน้ำมาฝนตกหนัก น้ำก็จะสามารถหลากไปท่วมชุมชนริมน้ำเซเปียนได้ ถึงจะไม่มากเหมือนกับวันเขื่อนแตกแต่ก็อันตราย

 

เขื่อนใหญ่จะมีประกันภัย แล้วประกันภัยจะจ่ายครบไหม?

การลงทุนขนาดใหญ่แบบข้ามพรมแดนแน่นอนว่ามีประกันภัยความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าประกันภัยจะจ่ายครบทุกกรณี อย่างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ต้องรอให้กระบวนการตรวจสอบหาสาเหตุเขื่อนแตกแล้วเสร็จก่อน เมื่อทราบสาเหตุที่แท้จริง ใครเป็นคนรับผิดชอบส่วนไหน ประกันภัยก็จะจ่ายตามจริง

ผู้ก่อสร้างเขื่อนจะรับผิดชอบอย่างไรกับเหตุการณ์นี้ ?

อยากให้ย้อนไปดูโครงการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดให้สร้างขึ้น แต่แผนการสร้าง-หลังสร้าง ทำไว้ชัดเจนมากทั้วการดูแลผู้ได้รับผลกระทบทุกมิติ การดูแลเยียวยาต้องความเป็นมนุษย์ด้วยกัน ถ้าชาวบ้านถูกย้ายที่ทำทำมาหากิน อาชีพ


ก็ต้องดูแลเขาให้ดีที่สุด ตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงวางแนวทางไว้ให้ ผมมองว่า "ใจเข้าใจเรา"ให้มากที่สุด เช่นเดียวกับลาวต้องใช้ความจริงใจในการแก้ไขปัญหา

 

มองลาว มองไทย จะตั้งรับกับเขื่อนแตกอย่างไร?

ในประเทศไทยมีเขื่อนขนาดเล็กและขนาดกลางกว่า 5,000 เขื่อน แต่จะให้ดูแลทุกเขื่อนคงเป็นไปได้ยาก วิธีเดียวที่ไทยจะตั้งรับกับภัยพิบัติเขื่อนแตกได้ คือ "ซ้อม" เขื่อนไหนมีโอกาสเสี่ยงจะแตกเจ้าของเขื่อน ผู้รับผิดชอบต้องประเมิน และต้องจัดแผนการซ้อม เพื่อให้รู้ว่าจะหนีอย่างไร

ขอแค่งบประมาณในการซ้อมก็พอ อาจจะสร้างหอสัญญาณ มีการประสานงาน ในแต่ละชุมชนในแต่ละท้องที่ ต้องทำตามมาตรฐานสากล ถ้าเกิดมีความเสี่ยง ติดอุปกรณ์การเตือนภัย เพื่อให้มีช่วงเวลาในการเตือนอพยพได้ทัน เท่าที่ทราบตอนนี้ที่เพียงเขื่อนแม่สรวย จ.เชียงราย ที่มีการซ้อมแผนการอพยพ มีระบบการเตือน มีทุกอย่างครบเพราะอยู่แนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหว

ไทยไม่มีเงินซ้อมแผนอพยพ ?

การจะบอกได้ว่าเขื่อนมีความพร้อมปลอดภัยไม่ปลอดภัย ต้องไม่ใช่เจ้าของ หรือผู้สร้างเขื่อน
มันต้องมีคนมองภาพใหญ่ เรามีเครื่องมือแต่เราไม่รู้มันปลอดภัยหรือเปล่า ดังนั้นต้องมีองค์กรภาพรวม เมื่อมีมาตรการจากระดับโลก ต้องมีคนมาผลักดัน ให้มีงบประมาณมาจัดการ ผมเคยถามเจ้าของเขื่อนไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากทำแผนซักซ้อมอพยพ แต่ทุกครั้งที่การของบประมาณขึ้นไป ก็มีคนไม่เข้าใจว่าจะทำทำไม จะซ้อมทำไม? ซึ่งองค์กรที่ว่านี้ต้องเป็นองค์กรมหาชน หรือ อยู่ภายในสำนักยกรัฐมนตรี

สำหรับในประเทศไทย มีความเสี่ยงไม่ต่างจาก ลาว พม่า สิ่งที่นักวิชาการกังวลไม่ใช่เขื่อนขนาดใหญ่ เพราะเขื่อนขนาดใหญ่มีเจ้าของ มีเจ้าภาพดูแลอยู่แล้ว เช่นกรมชลประทาน และกฝผ. แต่เขื่อนที่ถูกจับตามองว่า อาจจะเกิดการวิบัติได้ คือเเขื่อนขนาดเล็ก และกลาง ที่มีมากกว่า 5,000 แห่ง บางแห่งถูกปล่อยร้างไร้หน่วยงานดูแลอย่างจริงจัง เพราะไม่มีงบประมาณ

เครือข่ายปะชาชนนัดประชุม 18-19 ก.ย.นี้ 

ขณะที่วันที่ 18-19 ก.ย.นี้ เครือข่ายภาคประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว ( Laos Dam Investment Monitor ) จะจัดเวทีพบปะกับกับตัวแทนฝ่ายต่างๆ ในประเทศเกาหลีใต้ ว่าด้วยเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เพราะเกาหลีใต้ มี 2 บริษัท ร่วมทุนสร้างเขื่อนแห่งนี้ คือ บริษัท เอส เค เอ็นจิเนียร์แอนด์คอนสตรัคชั่น (SK Engineering & Construction ) และบริษัทเกาหลีเวสเทิร์นพาวเวอร์ (Kowepo) โดยร่วมกับบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ของไทย และรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว ( Lao Holding State Enterprise) อีกทั้งบริษัทเกาหลียังใช้เงินสาธารณะของเกาหลีในฐานะเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (โอดีเอ) ต่อรัฐบาลลาว เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการนี้ด้วย ซึ่งการเปิดเวทีสาธารณะที่เกาหลีใต้ จะเป็นการตั้งคำถามถึงบทบาทและความรับผิดชอบของบริษัทและรัฐบาลเกาหลี รวมถึงบริษัทลงทุนอื่นๆ และความเป็น"แบตเตอรี่แห่งเอเชีย"ของลาว หลังจากเกิดโศกนาฎกรรมเขื่อนแตกระดับโลก พวกเขายังจะหยุด หรือ จะเดินหน้าลงทุนสร้างเขื่อนต่อไปอย่างไร

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

รู้จัก “เขื่อนเซเปียน- เซน้ำน้อย”ก่อนแตก

ระทึก ! เขื่อนเซเปียนแตก อพยพ 4,000 ครอบครัวหนีตาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง