วันนี้ (12 ก.ย.2561) นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (13 ก.ย.) ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่ชาวบ้านแม่เมาะ จ.ลำปาง นำโดย นายเฉลียว ทิสาระ กับพวกรวม 18 คน ฟ้องกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2548 กรณีที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ทั้งนี้ นายเฉลียวและพวกได้ฟ้อง ครม.และพวกที่มีมติ ครม.วันที่ 21 ธ.ค.2547 ให้อนุรักษ์แหล่งซากหอยขมน้ำจืดดึกดำบรรพ์เหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง อายุ 13 ล้านปี น้อยกว่าจำนวนที่ควรจะอนุรักษ์ และละเลยปล่อยให้มีการไถทำลายซากหอยดังกล่าวที่อยู่นอกเขตมติ ครม. ตามประทานบัตรเลขที่ 24349/16341 เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่
ภาพ:มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
คดีนี้ศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2550 มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติของ ครม.เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพิกถอนประทานบัตรเลขที่ 24349/15341 ในส่วนที่เป็นพื้นที่แหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์จำนวนเนื้อที่ 43 ไร่ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 ควบคุมและสั่งการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตรเลขที่ 24349/15341
นอกจากนี้ยังสั่งการให้กรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนแหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์เป็นเขตโบราณสถานโดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มี พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551
คดีนี้ใช้เวลาในการพิจารณาในชั้นสูงสุดนาน 10 ปี และวันพรุ่งนี้(13 ก.ย.)จะมีการตัดสินแล้ว ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ทางด้านสิ่งแวดล้อม อีกหนึ่งคดีที่รอคอย
ภาพ:มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
นายสุรชัย กล่าวอีกว่า เพราะตลอดระยะเวลาในการสืบพยานหลักฐานต่างๆ ยอมรับว่ามีข้อจำกัด เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ทำให้การเข้าถึงพื้นที่ยาก นอก จากนี้ในช่วงการฟ้องคดี มีการผลักดันให้เป็นแหล่งโบราณสถาน แต่หลังจากมี พ.ร.บ.คุ้มครองซาก ดึกดำบรรพ์ จะทำให้ส่งผลต่อการจัดการเชิงพื้นที่ด้วยหรือไม่ และไม่ชัดเจนว่าได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายใหม่แล้วหรือไม่
แหล่งข่าวจากกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า เนื่องจากแหล่งฟอสซิลหอยขม 13 ล้านปียังอยู่ภายใต้คดีของศาล จึงยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 ของกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งขณะนี้มีเพียง 11 แห่งจาก 300 กว่าแหล่งที่มีการขอขึ้นทะเบียน ส่วนตัวซากฟอสซิลมีการขึ้นทะเบียนไว้ 189 ชิ้น แต่ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ 34 เช่น ไดโนเสาร์สายพันธ์ุใหม่
ภาพ:มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
สำหรับคดีนี้ชาวบ้านฟ้องคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทักษิณ เป็นจำเลยที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เนื่องจากการทำเหมืองแร่ลิกไนต์ในพื้นที่พบแหล่งฟอสซิลหอยขมอายุ 13 ล้านปีถือเป็นการทำลายแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่า