ยืดเยื้อยาวนานกว่า 10 ปี กรณีชาวบ้านรอบเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง 18 คน ฟ้องคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อศาลปกครอง กรณีคุ้มครองแหล่งฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ อายุ 13 ล้านปี น้อยกว่าที่ควรจะเป็น กระทั่งวันนี้ (13 ก.ย.) ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง
กรณีข้อพิพาทเรื่องการขอคุ้มครองเริ่มต้นในปี 2546 เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ค้นพบซากหอยขมบนแปลงประทานบัตรที่มอบให้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
จากการตรวจสอบพบว่าฟอสซิลหอยแม่เมาะ อยู่ในสกุล Bellamya จัดอยู่ในวงศ์ Viviparidae เป็นหอยน้ำจืดอาศัยอยู่บนพื้นดินโคลน มีความหนาสูงสุด 12 เมตร ครอบคลุมในพื้นที่กว่า 40 ไร่ ทั้งนี้การศึกษายัง ระบุด้วยว่าชั้นฟอสซิลหอยมีอายุประมาณ 13 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาดังกล่าวแอ่งแม่เมาะมีลักษณะเป็นหนอง บึง หรือทะเลสาบน้ำจืด
การค้นพบฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ ที่เหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง สร้างความสนใจจนนำไปสู่การอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด
กระทั่งต้นปี 2547 คณะกรรมการกลั่นกรองเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี โดย ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เข้ามาศึกษาซากฟอสซิลที่พบ แต่ กฟผ.มีหนังสือร้องเรียนให้ทบทวน เนื่องจากกระทบต่อการดำเนินงานของ กฟผ.
โดย กฟผ.ได้เสนอแนวทางในการอนุรักษ์ไว้ 2 แนวทาง คือ กันพื้นที่อนุรักษ์ซากฟอสซิลหอยไว้ 18 ไร่ ซึ่งจะสูญเสียถ่านหินลิกไนต์ 400,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าแร่ประมาณ 200 ล้านบาท กับอีกแนวทางหนึ่งคืออนุรักษ์ซากฟอสซิลไว้ทั้งหมด 43 ไร่ ซึ่งจะทำให้ กฟผ.สูญเสียถ่านหินไปถึง 265 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าแร่ประมาณกว่า 132,500 ล้านบาท
29 มิถุนายน 2547 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เสนอว่า หากอนุรักษ์ฟอสซิลหอยไว้ 18 ไร่ จะไม่กระทบกับการดำเนินงานของ กฟผ.มากนัก
ต่อมามีการอ้างผลการสำรวจของ ศ.อดุล วิเชียรเจริญ ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยสัญญาคุ้มครองมรดกโลกว่า ฟอสซิลหอยบริเวณดังกล่าวเป็นหอยที่ไม่สามารถบ่งบอกอายุได้ชัดเจน ไม่สามารถใช้ศึกษาวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และขาดความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่สามารถจะประกาศเป็นมรดกโลกได้
21 ธันวาคม 2547 ครม.มีมติให้ลดพื้นที่พื้นที่อนุรักษ์ซากหอยขมดึกดำบรรพ์ จาก 43 ไร่ เหลือเพียง 18 ไร่ และกันพื้นที่อีกส่วนหนึ่งเพิ่มเติมเป็น 52 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ลางแจ้งและอาคารพิพิธภัณฑ์ถาวร ทำให้เกิดกระแสคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์และประชาชน
7 เม.ย. 2548 ชาวบ้านบริเวณรอบเหมืองแม่เมาะ 18 คน ยื่นฟ้อง คณะรัฐมนตรีที่ 1 กับพวกรวม 4 คน ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นจำเลยที่ 2 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นจำเลยที่ 3 และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นจำเลยที่ 4 ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อวินิจฉัยว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2547 ให้อนุรักษ์พื้นที่ฟอสซิลหอยขมน้ำจืดไว้ 18 ไร่จากเดิมทั้งหมด 43 ไร่ ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และขัดต่อ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 พ.ร.บ.โบราณสถานโบราณวัตถุ พ.ศ.2504 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 หรือไม่
นอกจากนี้ ยังขอให้ศาลปกครองให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ กฟผ.ยุติการดำเนินการใดๆ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
17 มี.ค.2548 กฟผ.ได้เชิญตัวแทนกลุ่มผู้ที่คัดค้านเข้ารับฟังการชี้แจงความจำเป็นที่จะต้องเดินเครื่องจักรขุดถ่านหิน หลังจากที่ชะลอการดำเนินการมา 15 วัน (วันที่ 2-16 มี.ค.2548) และเคยหยุดมาแล้วก่อนหน้านี้ประมาณ 1 ปี เพื่อให้กรมทรัพยากรธรณีเข้าไปสำรวจแนวทางการอนุรักษ์ ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนในทรัพยากรน้ำและแร่
กระทั่งวันนี้ (13 ก.ย.2561) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องคำตัดสินของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2550 ที่มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติของ ครม.เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2547 โดยให้คุ้มครองพื้นที่เพียง 18 ไร่ จาก 43 ไร่ตามที่ชาวบ้านเรียกร้องและเห็นว่าข้อกังวลของชาวบ้านที่ห่วงว่าการทำเหมืองแร่จะกระทบกับแหล่งซากฟอลซิล เป็นเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งยังไม่แน่นอนแต่หากมีเหตุการณ์นี้ผู้ฟ้องจึงจะฟ้องศาลได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
10 ปีที่รอคอย ! ตัดสินคดีฟอสซิลหอยขมแม่เมาะ 13 ล้านปี