วันนี้ (13 ก.ย.2561) เวลา 10.00 น.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีฟ้องคุ้มครองแหล่งฟอสซิลหอยขม 13 ล้านปี เหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง โดยมีนายสุรชัย ตรงงาม ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้าน 18 คน นายเฉลียว ทิสาระ นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เข้ารับฟัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลออกนั่งบัลลังก์ระบุว่า เนื่องจากคำพิพากษามีความยาวถึง 40 หน้า จึงขออนุญาตคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ไม่อ่านคำพิพากษาทั้งหมด แต่ให้มีการคัดสำเนาได้
ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยให้ยกฟ้องคำตัดสินของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2550 ที่มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติของ ครม.เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2547 และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพิกถอนประทานบัตร เลขที่ 24349/15341 ในส่วนที่เป็นพื้นที่แหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ จำนวนเนื้อที่ 43 ไร่ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 ควบคุมและสั่งการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตรเลขที่ 24349/15341
นอกจากนี้ยังสั่งการให้กรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนแหล่งซากฟอสซิลหอยขมดึกดำบรรพ์ เป็นเขตโบราณสถาน โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน
ชี้ศาลให้ฟ้องร้องใหม่หากเจอพังทลาย
นายสุรชัย ให้สัมภาษณ์หลังอ่านสำเนาคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยระบุว่า กรณีให้เพิกถอนมติ ครม.และประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในการกันเขตพื้นที่จาก 43 ไร่เหลือ 18 ไร่ ศาลเห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้ว รวมถึงศาลเห็นว่าตัวแหล่งซากไม่ได้อยู่ในนิยามโบราณสถาน ตามกฎหมายต่อไปเพราะปัจจุบันต้องอยูในพ.ร.บ.ซากดึกดำบรรพ์ ภายหลัง
นอกจากนี้ ในประเด็นอีไอเอ ทำนองเดียวกัน ศาลเห็นว่าทางสผ.ไม่ได้สั่งการ หรือดำเนินการให้ทาง กฟผ.มีการดำเนินการอะไรแก้ไขที่มีความชัดเจน รวมถึงกรณีที่ห่วงว่าจะมีการพังทลายของแหล่งซากฟอสซิล ศาลเห็นว่ายังมีความไม่แน่นอน และหากมีปัญหาพังทลาย ก็ให้มีการฟ้องร้องกันใหม่
ขณะที่นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่า รู้สึกหดหู่ใจและเสียดาย ที่ชาวบ้านแม่เมาะ ไม่สามารถปกป้องทรัพยากรสมบัติของชาติไว้ได้
หลังจากได้ฟังคำพิพากษาคดีนี้ ว่า ตัวเองไม่ได้หมดกำลังใจ เพราะเห็นว่าฟอสซิลดังกล่าวเป็นสมบัติของประเทศและของโลก ไม่ได้เป็นผลประโยชน์ของผู้ฟ้องทั้ง 18 คน โดยต้องการให้แอ่งแม่เมาะเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน รวมทั้งเกิดประโยชน์ในการศึกษาเชิงวิชาการ
นางมะลิวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านโดยเฉพาะเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ออกมาผลักดันและเคลื่อนไหวหลายคดี ซึ่งประเด็นนี้ทำให้สังคมเห็นถึงความจำเป็นในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์โบราณวัตถุ เพราะ กฝผ.ไม่ได้ดูแลอย่างเหมาะสม ไม่ได้กั้นพื้นที่ หรือป้องกันลมและฝน จนทำให้ฟอสซิลผุพัง
หดหู่แต่ไม่ท้อถอย แอ่งแม่เมาะมีสมบัติมากมายที่ กฟผ.ไม่สนใจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
10 ปีที่รอคอย ! ตัดสินคดีฟอสซิลหอยขมแม่เมาะ 13 ล้านปี