กรณีชาวบ้านแม่เมาะ จ.ลำปาง จำนวน 18 คนมอบหมายให้ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีอุตสาหกรรม กรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งแม้วันนี้(13 ก.ย.2561) ศาลปกครองสูงสุด เพิ่งมีคำพิพากษาไม่เห็นพ้องกับคำตัดสินของศาลปกครองกลาง และให้ยกฟ้อง
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบข้อมูลจากจากกรมทรัพยากรธรณี ยืนยันว่าพื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ฟอสซิลหอยขม 13 ล้านปี อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนคุ้มครองภายใต้พ.ร.บ. คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551
เพราะในช่วงกว่า 10 ปียังติดอยู่ในคดีความ ทำให้ยังไม่ได้มีการประกาศเป็นแหล่งฟอสซิลในกฎหมายฉบับใหม่ หลังจากที่ในระหว่างการฟ้องร้องต้องพิจารณาให้พื้นที่ดังกล่าว อยู่ภายใต้ตามนิยามของ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504
กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่าซากดึกดำบรรพ์ฟอสซิลหอยขม 13 ล้านปี อ.แม่เมาะ พบในพื้นที่ประทานบัตรเลขที่ 24349/15341 พบการวางตัวแทรกระหว่างถ่านหินสองชั้น จัดอยู่ในวงศ์ Viviparidae มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Mud Snail เป็นหอยน้ำจืด อาศัยอยู่บนพื้นดินโคลน กินอาหาร จำพวกสาหร่าย ตะไคร่ แพลงตอน สัตว์น้ำเล็กๆ และจอกแหนในหนองบึง เติบโตและออกลูกสืบพันธ์ุได้ทุกฤดูการ หอยวงค์นี้ เริ่มปรากฏในสายวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคจุลาสสิก 200-145 ล้านปี
กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่าหอยขมดึกดำบรรพ์ อายุ 13 ล้านปี ที่เหมืองแม่เมาะเป็นชั้นหอยขมน้ำจืดหนาที่สุดในโลก ค้นพบเมื่อปี 2546 โดยวางตัวแทรกอยู่ในชั้นถ่านหินสองชั้น นอกจากซากหอยขมแล้ว เหมืองแม่เมาะยังพบซากดึกดำบรรพ์ที่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ ได้แก่ ปลา กระดองตะพาบน้ำ กระดูกช้าง กรามช้างดึกดำบรรพ์ ฟันหมีหมา และสัตว์กินเนื้อขนาดเล็กจำนวนมาก
หอยขม 13 ล้านปีที่เหมืองแม่เมาะเป็นหอยขมน้ำจืดวงศ์ Viviparidac สกุล Bellamya เจริญเติบโตและสืบพันธุ์ได้ทุกฤดูกาล ออกลูกเป็นตัวครั้งละประมาณ 30-50 ตัว โดยพบอยู่บริเวณขอบด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเหมืองแม่เมาะ มีความสูงประมาณ 12 เมตร อยู่ในพื้นที่ 40 ไร่ มีความหนาตั้งแต่ 3-12 เมตรเฉลี่ยประมาณ 8 เมตร ตัวหอยมีขนาด 0.5x 1 เซนติเมตร ถึง 2X2.5 เซนติเมตร สีเทาแดงดำและน้ำตาล มีความหนาตั้งแต่ 30-70 เซนติเมตร กับชั้นเปลือกหอยแตกหัก สีขาว แดง และดำ ความหนาไม่เกิน 15 เซนติเมตร
จากการตรวจสอบทั่วโลกมีชั้นหอยดึกดำบรรพ์ที่เกิดจากการสะสมตัวตามธรรมชาติจนเป็นชั้นหนาผิดปกติหลายแห่ง ทุกแห่งเป็นชั้นหอยทะเล โดยพบชั้นหอยทะเลที่ประเทศออสเตรเลีย อายุระหว่าง 13.11.5 ล้านปี มีความหนาถึง 19 เมตร จัดเป็นชั้นหอยน้ำเค็มที่หนาที่สุดเชในโลก และ Shark Bay บริเวณชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย พบการสะสมตัวของหอยทะเลที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ 5,000 ปีจนถึงปัจจุบัน มีความหนาประมาณ 10 เมตร ชั้นหอยแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2534
ขณะนี้ยังไม่มีรายงานใดที่ระบุว่ามีการพบชั้นหอยน้ำจืดเกินชั้นหอยขมแม่เมาะ จึงถือได้ว่าชั้นหอยขมที่เหมืองแม่เมาะ เป็นชั้นหอยขมน้ำจืดที่หนาที่สุดในโลก
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ศาลยกฟ้องคดีคุ้มครองฟอสซิลหอย 13 ล้านปี เหมืองแม่เมาะ
ย้อน 10 ปี คดีฟอสซิลหอย อายุ 13 ล้านปี
10 ปีที่รอคอย ! ตัดสินคดีฟอสซิลหอยขมแม่เมาะ 13 ล้านปี