สภาพอากาศที่แปรปรวนที่พบเห็นได้บ่อยมากขึ้นในขณะนี้ ส่วนหนึ่งมาจากภาวะโลกร้อน (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนในหลายพื้นที่ของโลก ซึ่งการเตรียมการรับมือโดยไปดูในพื้นที่ขั้วโลกซึ่งเหมือนเป็นพื้นที่ที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกได้
รศ.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำกลุ่มวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.วรณพ วิยกาญน์ 2 นักวิจัยพร้อมด้วยผู้ร่วมวิจัย 13 ชีวิต ได้เดินทางไปไปยังหมู่เกาะสวาลบาร์ด มหาสมุทรอาร์กติก เพื่อศึกษาวิจัยผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีผลกระทบต่อสัตว์ทะเล โดย รศ.สุชนา เล่าถึงประสบการณ์และวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการที่น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลาย
ขั้วโลกเหนือ อุณหภูมิเพิ่ม 6 องศาฯ
รศ.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำกลุ่มวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.สุชนา เล่าวว่า จากการสำรวจบริเวณขั้วโลกเหนือ (พ.ศ.2557) พบว่าน้ำแข็งละลายเยอะมาก และจากข้อมูลของนักวิจัยชาวนอร์เวย์ ที่เก็บข้อมูลบริเวณขั้วโลกเหนือ พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นอยู่ที่ 5-6 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง แม้ว่าจะไปในช่วงฤดูร้อน แต่ก็น่าตกใจเพราะน้ำแข็งควรจะมีปริมาณที่มากกว่าที่พบ และการละลายที่ค่อนข้างเร็วลักษณะคล้ายกับน้ำตก ซึ่งแสดงว่าอุณหภูมิสูงขึ้นจริง ในฤดูร้อนอุณหภูมิอาจอยู่ที่ 1- 2 องศาเซลเซียสซึ่งไม่น่าจะสูงถึง 5-6 องศาเซลเซียส
ขั้วโกลเหนือในช่วงฤดูร้อน นักวิจัยพบว่าอุณหภูมิสูงขึ้น และหิมะละลายมากขึ้น
หากเทียบกับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ครั้งล่าสุดเพื่อร่วมแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน หรือตามที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ได้วางกรอบให้อุณหภูมิทั่วโลกไม่สูงเกิน 5 องศาเซลเซียส ในปี 2100 หรือประมาณ 80 ปี ข้างหน้า แม้แต่ขั้วโลกเหนือที่อุณหภูมิอยู่ที่ 5-6 องศาเซลเซียส ถือเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะในพื้นที่อื่นก็มีแนวโน้มว่าจะสูงเกิน 5 องศาเซลเซียสในเวลาไม่นานนัก
ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้เป็นปราการด่านแรกที่จะบอกได้ว่า ณ ขณะนี้โลกเราสถานการณ์เป็นอย่างไร เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณนี้จะส่งผลต่อพื้นที่อื่นของโลก และเป็นเหตุผลว่าประเทศไทย ที่อยู่ห่างขั้วโลกเหนือกว่า 10,000 กิโลเมตร ต้องส่งนักวิจัยมาเก็บข้อมูลก็เพื่อการตั้งรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ เมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลายจึงเป็นการไปเพิ่มระดับน้ำทะเลให้สูงขึ้น หากน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายทั้งหมดจะทำให้น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 5 เมตร และหากน้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 50-60 เมตร ในปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 3 มิลลิเมตร ซึ่งการเพิ่มของระดับน้ำทะเลส่งผลต่อการกัดเซาะชายฝั่ง ชายฝั่งหาย น้ำท่วมมากขึ้น
2 ขั้วโลก ปัญหาต่างกัน
รศ.สุชนา อธิบายเพิ่มเติมว่า การไปสำรวจขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ พบว่าการละลายของน้ำแข็งค่อนข้างแตกต่างกัน โดยกายภาพขั้วโลกเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นทะเลปกคลุมด้วยน้ำแข็ง 3- 5 เมตร มีประเทศล้อมรอบ ขณะที่ขั้วโลกใต้เป็นทวีปที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งหนา 2,000 – 3,000 เมตร ซึ่งขั้วโลกใต้ยังละลายน้อยกว่า เพราะแสงแดดที่ส่องมาน้อยกว่า และด้วยเป็นพื้นที่ทวีปการละลายจึงมีกระ บวนการที่ค่อนข้างช้ากว่า ขั้วโลกเหนือ แต่พบการละลายของน้ำแข็งบริเวณไหล่ทวีปแอนตาร์กติกแต่ไม่เด่นชัดเท่าขั้วโลกเหนือ โดยน้ำแข็งขั้วโลกใต้ฝั่งตะวันตกมีการละลาย แต่ฝั่งตะวันออกปริมาณน้ำแข็งเพิ่มขึ้น
ตอนนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องโลกร้อน แต่โลกร้อนคือส่วนหนึ่งมันมีทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้นและลดลง แต่โดยรวมคืออากาศแปรปรวนและค่อนข้างสุดโต่งเช่น ร้อนสุดโต่ง หนาวสุดโต่ง หรือฝนตกสุดโต่ง หรือที่จะเห็นว่า ฤดูหนาวที่ผ่านมาบางพื้นที่หิมะตกมากกว่าปกติ
ภาพรวมน้ำแข็งทั้งหมดละลายมากขึ้น โดยขั้วโลกเหนือจะละลายมากกว่า ขณะที่ขั้วโลกใต้จะละลายน้อยกว่าเนื่องจากมีพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ การเปลี่ยนแปลงในช่วง 4-5 ปี ถือว่าสภาพอากาศแปรปรวนค่อนข้างเร็ว คล้ายกับภาพยนตร์เรื่อง The Days After Tomorrow ที่อากาศมีลักษณะเย็นจัดบางพื้นที่แต่คงไม่เร็วเฉียบพลันเหมือนกับในภาพยนตร์
ภาพรวมน้ำแข็งทั้งในขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ละลายมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ปลาขั้วโลกใต้พยาธิเพิ่มขึ้น
ขณะที่การเก็บข้อมูลในพื้นที่ขั้วโลกใต้ ครั้งล่าสุดเมื่อปี ( พ.ศ.2552) ผลกระทบที่พบจากการที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นคือ ตัวอย่างของปลาในพื้นที่มีพยาธิเพิ่มสูงขึ้นกว่า 10 ตัว ที่เกาะติดบนตัวปลา เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นมีผลต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ซึ่งปกติขั้วโลกใต้เชื้อโรคจะมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลยเนื่องจากอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ และพฤติกรรมการกินของปลาแทนที่จะกินกุ้ง เคย ก็ไปกินหมึก หรือสัตว์อื่นๆ แทน
นักวิจัยเตรียมดำน้ำเพื่อเก็บข้อมูลพิชและสัตว์น้ำ บริเวณขั้วโลกใต้
ต่อไปยิ่งอุณหภูมิเพิ่มมากขึ้นพยาธิในตัวปลาในพื้นที่อื่นๆจะเพิ่มมากขึ้น หรืออาจเกิดในไทย เพราะหากเทียบเคียงกับพยาธิที่ติดอยู่ตัวปลาในขั้วโลกใต้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ จากการที่น้ำแข็งละลายส่งผลโดยตรงต่ออัตราการรอดชีวิตของเพนกวิน ที่พบว่าอัตราการรอดน้อยกว่า ร้อยละ 10 โดยปกติจะอยู่ที่ร้อยละ 50 ซึ่งเมื่อน้ำแข็งละลายเพิ่มมากขึ้น พ่อเพนกวิน ต้องใช้เวลาออกไปหาอาหารนานมากขึ้น และแม่เพนกวิน ก็ต้องออกไปหาอาหาร เพราะรอเป็นเวลานานทำให้ต้องทิ้งลูกเพนกวินอยู่ตามลำพัง และเมื่อกลับมาไม่ทัน ลูกเพนกวินก็ตาย ซึ่งพบว่ามีเพนกวินที่ตายเป็นจำนวนมาก หรือแมวน้ำที่พ่อแม่แมวน้ำ ก็ต้องใช้เวลาออกไปหาอาหารเป็นเวลานานมากขึ้นและทำให้ลูกแมวน้ำตายเช่นกัน
ลูกเพนกวินมีอัตรารอดชีวิตต่ำลงอย่างมากจากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 50 ลดลงอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 10
หมีขาวไม่จำศีล
ขณะที่ หมีขาว ซึ่งมีประชากรน้อยอยู่แล้ว มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงโดยตัวผอมลง เพราะปกติหมีขาวมักที่จะกินแมวน้ำ เนื่องจากไขมันเยอะ ก็เปลี่ยนมากินหญ้า หรือมอสแทน เพราะการจะไปล่าแมวน้ำ ต้องใช้ในการเกาะน้ำแข็งหรือว่ายน้ำไปยังแผ่นน้ำแข็งที่แมวน้ำอาศัย ดังนั้นเมื่อน้ำแข็งละลายมากขึ้น หมีขาวต่องว่ายน้ำไกล และไม่มีแผ่นน้ำแข็งให้เกาะหรือให้แมวน้ำอาศัยการล่าแมวน้ำจึงทำได้ยาก
หมีขาวต้องออกหากินพืชบริเวณหน้าผา เนื่องจากน้ำแข็งที่ละลายทำให้การออกล่าแมวน้ำเพื่อเป็นอาหารทำได้ยากมากขึ้น
หมีขาวจึงเลือกหากินบริเวณหน้าผา หรือไข่นกแทน เพราะหมีขาวต้องการไขมันในการดำรงชีวิต บริโภคพืช หรือไข่นก ก็ไม่เพียงพอ รวมถึงการที่หาอาหารไม่เพียงพอ ทำให้หมีขาวไม่อาจจำศีลในช่วงฤดูหนาวได้ รวมทั้งยังเจอหมีออกหาอาหารในหมู่บ้าน ทั้งการคุ้ยขยะ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในขั้วโลกเหนือ ส่วนประชาชนในหมู่บ้านทางตอนเหนือของนอร์เวย์ ได้สร้างแผงกั้นเพื่อป้องกันการละลายของน้ำแข็ง และหิมะที่อาจทำให้เกิดหิมะถล่มใส่หมู่บ้านเช่นกัน
เฝ้าระวังก้อนน้ำแข็งขั้วโลกใต้
ประเทศใกล้เคียงขั้วโลกใต้ ทั้งอาร์เจนติน่า ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มีการเฝ้าระวังน้ำแข็งที่ละลายออกมาและอาจพัดเข้าฝั่งจนสร้างความเสียหาย
ขณะที่ ประเทศที่อยู่ใกล้กับบริเวณขั้วโลกใต้ เช่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ชิลี อาร์เจนติน่า ได้มีการเฝ้าระวังก้อนน้ำแข็งที่แตกและลอยออกมา หากลอยมาชนกับเกาะ หรือประเทศอาจทำให้เกิดคลื่นยักษ์ ขณะนี้ยังไม่มีเกิดขึ้น แต่มีหลายก้อนที่ต้องเฝ้าระวัง ในแต่ละปีประเทศเหล่านี้ส่งนักวิจัยไปกว่า 30-40 คน ในการเก็บข้อมูลบริเวณขั้วโลกใต้
แผ่นน้ำแข็งที่เราเห็นโผล่ขึ้นมามันค่อนข้างเล็กประมาณ 1 ใน 4 แต่ข้างใต้นั้นใหญ่กว่ามาก เพราะหากแผ่นใหญ่เคลื่อนตัวใกล้ฝั่งหรือเกาะของประเทศต่างๆ ก็จะมีผลกระทบเกิดขึ้นได้
ดังนั้น ภาวะโลกร้อน จะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก โดยเกี่ยวข้องกันหมดเพียงแต่จะในทางตรงหรือทางอ้อมเท่านั้น เช่นความกดอากาศที่ลดลงก็จะส่งผลไปยังพื้นที่อื่นของโลกทำให้เกิดฝน พายุ หรือกระแสน้ำที่เปลี่ยนไปเพราะน้ำแข็งขั้วโลกละลายเยอะ ทั้งทิศทางลม หรือฤดูกาลที่อาจเปลี่ยน เพราะฤดูกาลมาจากชั้นบรรยากาศ กระแสลม กระแสน้ำที่เปลี่ยนไป และหากกระแสน้ำเปลี่ยนทิศ ก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อภูมิภาคอื่นๆ
หมู่บ้านแห่งหนึ่งในประเทศนอร์เวย์ ต้องทำแผงกั้นหิมะ เนื่องจากน้ำแข็งที่ละลายอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดหิมะถล่มมายังหมู่บ้าน
ขั้วโลกเหนือ บางส่วนมองว่า เมื่อน้ำแข็งละลายจะส่งผลดีต่อการเดินเรือเพราะเป็นทางลัดจากยุโรปไปยังอเมริกา หรือการสำรวจปิโตรเลียมก็อาจจะทำได้ง่ายขึ้น แต่ภาพรวมหากน้ำแข็งละลาย ระบบนิเวศน์ที่เสียหายจะมีโทษมากกว่าผลดีแน่นอน
“นอร์เวย์” วิจัยจับ “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”
รศ.สุชนา กล่าวอีกว่า อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเมื่อ 50-60 ปีก่อน (Baby Boom) ซึ่งภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้น ประเทศนอร์เวย์ จริงจังกับเรื่องนี้เนื่องจากอยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือ ได้ศึกษาการจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาใช้ประโยชน์เพื่อลดปริมาณก๊าซในบริเวณขั้วโลกเหนือ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการศึกษาที่หมู่เกาะสวาลบาร์ด มหาสมุทรอาร์กติก ซึ่งเป็นพื้นที่แรกในการศึกษาในการนำก๊าซที่สะสมมาใช้ประโยชน์ ซึ่งเริ่มมากว่า 4-5 ปีแล้ว หากสำเร็จก็จะเป็นการค้นคว้าครั้งยิ่งใหญ่ของโลก
เราอาจไม่ได้ตระหนักว่าการกระทำของเราส่งผลต่อขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ดังนั้น แม้ว่าภาวะโลกร้อนที่ทำให้น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลาย จะทำให้หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ถือเป็นภาพจำลองของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ของโลก สิ่งที่ง่ายที่สุด เริ่มจากตัวเองคือการช่วยการลดภาวะโลกร้อน งดใช้โฟม ลดการใช้พลาสติก แม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ทุกคนทำได้ อย่างน้อยก็ช่วยชะลอปัญหาที่จะเกิดจากภาวะโลกร้อนให้ยืดยาวออกไปหรือลดความรุนแรงลงได้บ้าง...