วันนี้ (18 ก.ย.61) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า กลุ่มเครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว ( Laos Dam Investment Monitor ) และภาคประชาสังคมประเทศเกาหลีใต้ (Peace Momo) เดินทางไปยังบริษัท SK ในเมืองจงนู ประเทศเกาหลีใต้เพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหาร SK Engineering & Construction แสดงความรับผิดชอบต่อกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในประเทศลาวแตก จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 40 คน และสูญหาย 66 คน
หลังจากที่ผ่านมาบริษัท SK ปฎิเสธการตอบรับเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในเวทีเสวนา "ผลกระทบเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก" จะจัดขึ้นในวันที่ 19 ก.ย.61 มหาวิทยาลัยซอกัง โดยที่ผ่านมาบริษัท SK ยังไม่ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะถึงสาเหตุเขื่อนแตก
แตกต่างจากบริษัท เกาหลีเวสเทริน์พาวเวอร์ ( KOWEPO) ที่แม้จะเยียวยาผู้ประสบภัยเบื้องต้นเท่านั้น แต่ก็ตอบรับเข้าร่วมในงานเสวนา เพื่อชี้แจงถึงความรับผิดชอบต่อผู้ประสบภัยในระยะสั้น และระยะยาว
กิจกรรมในวันนี้ (18 ก.ย.61) ภาคประชาสังคมจากไทย เกาหลีใต้ และกัมพูชา ได้แถลงการณ์ด้านหน้าบริษัท SK ถึงการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาพวกเขายังไม่เห็นความรับผิดชอบที่จริงใจของผู้สร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ทั้งจากไทย ลาว โดยเฉพาะบริษัท SK ของเกาหลีใต้ที่เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้เพียงบริษัทเดียว โดยมีหุ้นมากสุด ร้อยละ 26 และการที่บริษัท SK เป็นผู้ก่อสร้างเขื่อนจึงทำให้ภาคประชาสังคมจับตาถึงความรับผิดชอบ และเกิดการตั้งคำถามว่า สาเหตุเขื่อนแตกเพราะมาตรฐานการก่อสร้างของทีมเกาหลีต่ำหรือไม่
ทีมข่าวไทยพีบีเอส ร่วมเกาะติดความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ พบว่า เครือข่ายภาคประชาสังคมต้องการที่จะเห็นรัฐบาลเกาหลีใต้รับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พวกเขาได้เดินทางไปที่รัฐสภา พบกับ นาย คิม ซองฮวาน ส.ส.เกาหลีใต้ผู้รับชอบด้านพลังงาน นายคิม ระบุว่า ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลเขื่อนแตกมากพอ เพราะทั้ง 2 บริษัทเกาหลีใต้ รายงานสาเหตุเขื่อนแตกขัดแย้งกัน
บริษัท SK บอกว่า เกิดจากภัยพิบัติฝนตกหนัก และอีกบริษัทบอกว่า เกิดจากการก่อสร้าง รัฐบาลเราอยากให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ จะเร่งหาสาเหตุเขื่อนแตก และจะผลักดันเรื่องนี้ให้ถึงทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์
ขณะที่ยุน จี ยอง ภาคประชาสังคมจากเกาหลีใต้ ระบุว่า นอกจากพวกเขาจะเรียกร้องให้ บริษัท SK ตอบรับการเข้าประชุมในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ย.61) แล้ว หัวใจสำคัญคือ คนเกาหลีใต้ต้องการให้บริษัท SK รับผิดชอบเยียวยาผู้ประสบภัยในระยะยาวโดยไม่มีเงื่อนไขไม่ใช่เพียงสร้างบ้านพักชั่วคราว แต่รวมถึงอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัยหลังจากนี้ไป
ยอมรับว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ ยังไม่รับข้อมูลใดๆ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเรา ที่จะออกมาให้ข้อมูลกับรัฐบาลเพื่อให้ปัญหานี้ได้รับความสนใจมากกว่านี้
เครือข่ายภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ยังคาดหวังว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ จะเข้าไปร่วมตรวจสอบหาสาเหตุเขื่อนแตกที่แท้จริง และอยากให้ทบทวนการให้ทุนในการพัฒนาพลังงาน โดยเฉพาะการสร้างเขื่อน เนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหมือนบทเรียนราคาแพงของเกาหลีใต้ ที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก พวกเขาแสดงจุดยืนไม่ได้ต่อต้าน แต่การสร้างเขื่อนต้องได้มาจากการทำผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างสมบูรณ์แบบเท่านั้น