วันนี้ (24 ก.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นิด้าโพล เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยร้อยละ 61.63 พบว่าประชาชนอยากเห็นพรรคการเมืองพรรคใหม่ หรือบุคคลใหม่ และนโยบายใหม่ เข้ามาบริหารและพัฒนาประเทศ ส่วนร้อยละ 37.49 อยากได้พรรคการเมืองเก่า เพราะเชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า นอกจากนี้ ผลการสำรวจ ร้อยละ 29.66 อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน รองลงมาร้อยละ 17.51 คือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ส่วนร้อยละ 13.83 คือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งผลสำรวจในครั้งนี้แซงหน้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยอยู่ที่ร้อยละ 10.71 เท่านั้น
ขณะที่ร้อยละ 28.78 อยากให้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงมากที่สุด และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนร้อยละ 20.62 ระบุเป็นพรรคพลังประชารัฐ ส่วนร้อยละ 19.58 คือพรรคประชาธิปัตย์ ตามมาด้วยพรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคประชาชาติ นอกจากนี้ ผลสำรวจพบว่าร้อยละ 52.76 ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรือไม่ เพราะยังมีหลายปัจจัยที่ยังไม่ชัดเจน และสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ ส่วนร้อยละ 45.16 ระบุว่าเชื่อมั่น เพราะสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ เป็นไปตามโรดแมปที่รัฐบาลวางไว้
เช่นเดียวกับสำนักวิจัยซูเปอร์โพลที่สำรวจความเห็นของประชาชนที่มีต่อประชาธิปไตยแบบไทยๆ ในฝัน พบว่าร้อยละ 96.7 ระบุประชาธิปไตยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทย ขณะที่มีเพียงร้อยละ 3.3 ระบุ ไม่จำเป็น
เมื่อถามถึงลักษณะของประชาธิปไตยแบบไทยๆ ในฝัน ร้อยละ 88.6 ต้องการนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับซื่อสัตย์สุจริต ไม่โกง ส่วนร้อยละ 83.0 ต้องการการมีส่วนร่วมปกครองบ้านเมืองและท้องถิ่นต่อเนื่อง ขณะที่ร้อยละ 85.3 สนับสนุนท่าทีของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ เคลื่อนไหวการเมืองด้วยความสงบสุขสู่ความปรองดองของคนในชาติ
สำหรับสวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจกรณีคนไทยคิดอย่างไรกับการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. โดยพบว่าร้อยละ 41.93 อยากให้ผู้สมัครเน้นสิ่งที่ทำได้จริง และพูดแล้วทำจริง ส่วนร้อยละ 35.92 ไม่ชอบการหาเสียงแบบคุยโม้โอ้อวด หรือขายฝัน และทำไม่ได้ตามพูด ส่วนร้อยละ 48.15 เห็นว่าการหาเสียงเลือกตั้งผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นวิธีที่ดีที่สุด ทันสมัย ประหยัดเวลา และงบประมาณ
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าร้อยละ 61.88 ชอบการปราศรัยการเลือกตั้งบนเวที เพราะได้เจอกับผู้สมัครตัวจริง และได้ฟังแนวคิดวิสัยทัศน์ ส่วนร้อยละ 38.12 พบว่าไม่ชอบ เพราะคนเยอะ เสียงดัง ทำให้เกิดความวุ่นวาย ส่วนร้อยละ 33.85 ประชาชนสนใจหาเสียงผ่านสื่อโทรทัศน์มากที่สุด รองลงมา คือร้อยละ 27.55 คือสื่อบุคคลทั้งตัวผู้สมัคร และหัวหน้าพรรค ขณะที่ร้อยละ 20.70 หาเสียงผ่านสื่อสังคมออนไลน์