วันนี้ (4 ต.ค.2561) ไทยพีบีเอสออนไลน์ ลงพื้นที่ซอยชินเขตและชัยเกียรติ ถ.งามวงศ์วาน เขตหลักสี่ หนึ่งในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างคอนโด “ดิ แอสปายคอนโด งามวงศ์วาน” ตั้งแต่ปี 2553
ผลกระทบที่ได้รับนำมาสู่การรวมตัวของชาวบ้าน 39 คน ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร ผอ.สำนักโยธา ผอ.เขตหลักสี่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และการบริการชุมชน (คชก.) และบริษัทเดอะแวลู พร๊อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เจ้าของคอนโดดังกล่าว

ขณะที่ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง ในฐานะตุลาการผู้แถลงคดี ได้แถลงว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ คชก. ให้ความเห็นชอบนั้น กระบวนการจัดทำและการรับฟังความเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบโครงการไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เนื่องจากมีการรับฟังประชาชนในพื้นที่ที่ห่างจากโครงการเกินกว่า 1,000 เมตร ทั้ง ๆ ที่ต้องรับฟังชาวบ้านที่ต้องได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง กลิ่น เสียง ความสั่นสะเทือนโดยรอบโครงการที่ใกล้เคียงที่สุดจึงจะถูกต้อง ดังนั้นข้อมูลใน EIA ที่ คชก. พิจารณาจึงไม่เป็นไปตามมาตรา 5 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ กทม.อนุญาตให้ก่อสร้างไปก่อน
ขยะอากาศจากคอนโดสูงกระทบชุมชน

แม้จะผ่านมาถึง 7 ปี จากการเข้าสำรวจชุมชน ชาวบ้านยังยืนยันผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังคอนโดสร้างแล้วเสร็จ โดยเฉพาะ ปัญหาขยะที่ถูกทิ้งหรือปลิวออกจากคอนโดสูง 28 ชั้น ตกลงมายังบ้านเรือนของชุมชนที่อาศัยอยู่รอบข้าง ซึ่งระหว่างที่ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์พูดคุยกับชาวบ้านก็สามารถบันทึกภาพขยะพลาสติกที่ลอยอยู่กลางอากาศ
ก่อนหน้านี้ที่บ้านมีลมพัดผ่าน แต่ปัจจุบันร้อนมากๆ และปัญหาที่พบทุกวัน คือ มีถุงพลาสติกและขยะลอยเต็มท้องฟ้า เมื่อก่อนเราอยู่กันแบบไม่มีอะไร แต่ตอนนี้สภาพมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่เราต้องทน ทำใจ แค่นั้นเอง

นางเสวานีย์ โมลีเศรษฐี หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบชี้ให้ผู้สื่อข่าวดูขยะที่กำลังลอยอยู่กลางอากาศจากคอนโดแห่งนี้ พร้อมเล่าว่า ขณะที่มีการก่อสร้างมีฝุ่นลอยอยู่ในอากาศจำนวนมากและในช่วงกลางคืนมีการโยนเหล็กลงมาจนเกิดแรงสั่นสะเทือน หลังสร้างแล้วเสร็จ คอนโดก็บดบังทัศนียภาพทั้งหมด

คอนโดสร้างเสร็จ ปัญหาไม่จบ
ส่วนนายกิตติพงษ์ ธรรมกุล หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ ยอมรับได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ก่อนก่อสร้างคอนโด เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้คอนโดไม่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นตามที่กฎหมายกฎหมายกำหนด ทั้งเรื่องการรับฟังความคิดเห็น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่กลับมีการอนุญาตให้ก่อสร้างจนทำให้ประชาชนออกมาทักท้วงถึงกระบวนการที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่ามันถูกกฎหมายทั้งหมด
ระหว่างก่อสร้างประชาชนได้รับความเดือดร้อนทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปรับถมที่ดิน การเจาะเทเสาเข็ม การก่อสร้างตัวอาคาร ตกแต่งตัวอาคาร จนการก่อสร้างคอนโดแล้วเสร็จ
หลังมีการอนุญาตเปิดใช้อาคาร ความกังวลในเรื่องของความปลอดภัยมีเพิ่มมากขึ้น นายกิตติพงษ์ เล่าว่า การเกิดแผ่นดินไหว วัสดุตกหล่น ความเป็นอยู่เปลี่ยนไปเนื่องจากถูกบดบังทัศนวิสัย และเกิดการเสื่อมค่าของที่ดิน และหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ รถดับเพลิงก็คงไม่สามารถเข้ามาควบคุมเพลิงได้ซึ่งตรงนี้ต่างฝ่ายต่างมีความเห็นตรงข้ามกันอยู่ ขั้นตอนก็ตกเป็นศาลวินิจฉัย นำข้อเท็จจริงมาพิจารณา

หลังประชาชนรวมตัวกันฟ้องร้องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจทางกฎหมาย ตามคดีที่ ส.3/2554 ศาลมีคำสั่งให้กรุงเทพมหานครจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ฟ้องคดีรายละ 68,900 บาทพร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ภายใน 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.2554 เป็นต้นไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
กังขา ชาวบ้านเข้าไม่ถึงข้อมูลรัฐ
นอกจากยื่นศาลปกครองแล้ว ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาออกมาว่า ในส่วนของตุลาการผู้แถลงคดี ระบุว่า มีการกระทำ EIA โดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ตุลาการเจ้าของสำนวนคดี เห็นว่าชอบด้วยกฎหมาย ประชาชนผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดในปี 2558 แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ
คำถามที่ติดอยู่ในใจตอนนี้ คือ กระบวนการทั้งหมดทำมาได้อย่างไร จนแล้วเสร็จให้ชาวบ้านเดือดร้อน เราไปมาทุกหน่วยงานที่มีอยู่ในประเทศไทยแล้ว เพราะต้องการให้วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายเป็นอย่างไรกันแน่ แต่สิ่งที่เราได้รับคือเวลาที่ทอดยาวออกไป จนทุกวันนี้มีแค่ความหวังอย่างเดียว ถึงแม้จะมีคำพิพากษาอะไรก็มา ตามความเห็นของประชาชนก็รู้สึกว่าช้าเกินไป

นายกิตติพงษ์ ย้ำว่า ปัญหาของคดีนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ พยานหลักฐานในส่วนของราชการ ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าในขั้นตอนของกฎหมายข้อมูลข่าวสาร หรือขั้นตอนของกฎหมายปกครอง ทั้งในส่วนของกรุงเทพมหานคร สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
เราได้พยายามทำเต็มที่แล้ว แต่ต้องใช้คำว่าไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้จนถึงปัจจุบัน ข้อมูลทั้งหมดอยู่ที่เจ้าหน้าที่ ณ วันนี้ เราก็ยังไม่ทราบว่าข้อมูลทั้งหมดอยู่ครบจริงหรือไม่
ขณะที่ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์พยายามติดต่อไปยังนิติบุคคลคอนโด “ดิ แอสปายคอนโด งามวงศ์วาน” แต่เจ้าหน้าที่นิติบุคคลดอนโดดังกล่าวปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลและบอกว่าจะติดต่อทีมข่าวกลับในภายหลัง