ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

5 พ.ย.นี้เคลื่อนทัพค้านถนนพะเนินทุ่ง ห่วงกระทบ "มรดกโลก"

สิ่งแวดล้อม
1 พ.ย. 61
14:38
1,326
Logo Thai PBS
5 พ.ย.นี้เคลื่อนทัพค้านถนนพะเนินทุ่ง ห่วงกระทบ "มรดกโลก"
เครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ป่า 15 องค์กรเคลื่อนทัพบุกทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือนายกรัฐมนตรีวันที่ 5 พ.ย.นี้ ขอให้ชะลอโครงการปรับปรุงพื้นผิวจราจรบริเวณถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง กังวลกระทบขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่อาจด้อยคุณค่าจากการทำถนนผ่าป่าและชีวิตสัตว์

วันนี้ (1 พ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นวันแรกที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้ปิดแหล่งท่องเที่ยวเขาพะเนินทุ่ง เพื่อปรับปรุงเส้นทางตั้งแต่ กม.ที่ 15+00 ถึง กม.ที่ 36+ 500 ตั้ง แต่วันที่ 1 พ.ย.2561 จำนวน 560 วัน ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากกลุ่มองค์กรอนุรักษ์และนักวิชาการด้านสัตว์ป่า นำโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย รวม 14 องค์กร เครือข่ายที่กังวลต่อปัญหาผลกระทบต่อสัตว์ป่า และรถยนต์ที่อาจจะขับเร็วมากขึ้นจนเฉี่ยวชนสัตว์ป่าที่หากินในพื้นที่

นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้ถูกขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ กับศูนย์มรดกโลกไว้แล้วตั้งแต่ปี 2554 และยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นห่วงว่าการปรับปรุงถนนคอนกรีตในแก่งกระจานอาจจะกระทบต่อความเป็นมรดกโลก

กังวลว่าถนนแห่งนี้จะส่งผลให้ความเป็นมรดกโลกด้อยค่าลง เพราะถนนเดิมเคยเป็นมิตรต่อสัตว์ป่าและนักท่องเที่ยว เพราะการทำถนนคอนกรีตจะยิ่งเพิ่มให้มีสัตว์ป่าตายมากขึ้น กระทบระบบนิเวศ สัตว์ป่าที่เคยเป็นเสน่ห์ หากินริมถนน เช่น นก อาจจะหายไป 

ชี้เขาใหญ่ยังมีสัตว์ตายปีละ 3,000 ตัว

นายสัตวแพทย์เกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมากรณีของมรดกโลก 2 แห่งคือ ห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร และดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ก็ไม่เห็นต้องปรับปรุงถนนคอนกรีตเพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะกรณีถนนสาย 304 ที่ตัดผ่ากลางป่าเขาใหญ่ -ทับลาน และถนนที่ขึ้นเขาใหญ่ทั้งด่านเนินหอม ปราจีนบุรี และปากช่อง จ.นครราชสีมา ก็เป็นโจทย์ที่คณะกรรมการมรดกโลกให้ไทยแก้ปัญหาด้วยการทำอุโมงค์เชื่อมป่า และถึงตอนนี้มีรายงานยืนยันว่าที่เขาอ่างฤาไนมีสัตว์ป่าหลายชนิดตายปีละ 3,000 ตัว

เนื่องจากการทำถนนคอนกรีตต้องผูกเหล็กและเอาเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าไปในพื้นที่ ต้องใช้ปูนเทถนน ซึ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศอย่างมาก รวมทั้งยังทำไหล่ทางเพิ่มต้องมีการตัดถางต้นไม้ในแนวเขต

ในระหว่างก่อสร้างปีกว่าๆ ถามว่าพวกเศษปูน หรือในระหว่างเทถนน หากมีสัตว์เข้าไปเหยียบปูนติดและแข็งตายคาถนน ใครรับผิดชอบ จึงอยากถามว่าขนาดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีหน้าที่ดูแลป่า และสัตว์ป่าสนใจหรือไม่ว่า 3,000 ชีวิตมีความสำคัญกับคนที่อยากรักษาชีวิตของสัตว์ป่าหรือไม่

15 องค์กรสิ่งแวดล้อมร่วมค้าน

กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกฯ กล่าวว่า ในวันที่ 3-11 พ.ย.นี้จะมีกิจกรรมถนนในป่าอนุรักษ์ ความพอดีอยู่ตรงไหน...Road KILLS !! ที่บริเวณลานสามเหลี่ยม ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ไฮไลท์ของกิจกรรมครั้งนี้เพื่อนำเสนอถึงผลกระทบต่อการทำถนนคอนกรีตในเขตป่า ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่นักวิชาการด้านสัตว์ป่า คนรักสัตว์ป่าได้รวบรวมผลกระทบจากสัตว์ป่าที่ถูกรถชนตายและมีการยืนยันถึงความสมบูรณ์ของสัตว์ป่าหลายชนิดที่หากินในถนนทางขึ้นเส้นพะเนินทุ่ง ที่อาจจะสุ่มเสี่ยงตายทั้งในระหว่างการปรับปรุงและทำถนนแล้วเสร็จ

เราไม่ค้านสุดโต่ง ยินดีให้ซ่อมแซม เพื่อความปลอดภัยจากดินไหลในช่วงหน้าฝน แต่ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงตลอดทั้งเส้น เพราะถนนเดิมที่เคยทำไว้ใช้เวลาอีก 20-30 ปีกว่าสัตว์จะปรับตัวได้ และไม่มีใครบอกได้เลยว่าจะมีสัตว์อีกกี่ตัวถูกฆ่าและตายในตอนนั้น ขณะที่ยังกังวลถ้าพะเนินทุ่งทำได้ โดยอ้างอำนาจของหัวหน้าอุทยานฯ ปรับปรุงซ่อมแซมถนนต่อไปคงมีอีกหลายพื้นที่ที่จะต้องตามมา

วันที่ 5 พ.ย.นี้ ตัวแทนกลุ่มจะไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ชะลอโครงการสร้างถนนคอนกรีตสู่เขาพะเนินทุ่งเพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน แต่ยังไม่มีการรับปากว่าจะถึงตัวนายกรัฐมนตรีหรือไม่

เปิดเหตุผลค้านถนนผ่าป่าแก่งกระจาน

ขณะที่กลุ่มเครือข่ายสิ่งแวดล้อม 15 องค์กร อนุรักษ์ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอคัดค้านโครงการปรับปรุงพื้นผิวจราจรบริเวณถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่งตลอดเส้น โดยให้เหตุผล 3 ด้านคือ 1.โครงการปรับปรุงถนนดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วม ไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 

2.ในระหว่างการก่อสร้างปรับปรุงพื้นผิวถนน ตัดผ่านพื้นที่ใจกลางอุทยานแห่งชาติ อันเปรียบเสมือนหัวใจของป่าแก่งกระจาน ซึ่งเป็นบ้าน ถิ่นอาศัยของสัตว์ป่ามากมายหลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ป่าหายาก อย่าง เสือ หรือ สัตว์ป่าสงวน เช่น เก้งหม้อ เลียงผา การที่ต้องมีเครื่องจักรกลขนาดหนักที่ต้องใช้ในการก่อสร้าง รถขนปูนที่ต้องวิ่งขนส่งไปมาไม่ต่ำกว่า 5,000 เที่ยวจะกระทบกับสัตว์ป่า อาจทำให้สัตว์ที่เคยเจอตัวง่ายต้องหลบหนีลึกเข้าไปและไม่กล้าออกมาด้านนอกให้เห็นอีกเลย เพราะมีงานวิจัยพบว่าหลังจากที่มีจราจรหนาแน่นขึ้น พื้นที่หากินของสัตว์ป่าหลบหนีออกจากจากแนวถนนมากขึ้น

 

3.หลังการก่อสร้างปรับปรุงพื้นผิวถนน จากบทเรียนที่ผ่านมาการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวโดยการปรับปรุงถนนให้ดีขึ้น ถึงแม้จะมีมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาหลังการก่อสร้างเสร็จ แต่ไม่อาจการันตีได้ว่ามาตรการเหล่านั้นจะสามารถบังคับใช้ได้จริง การขยายถนนปรับปรุงผิวถนนให้เป็นคอนกรีตตลอดสายนั้น ทำให้การจราจรสะดวก การขับรถสามารถใช้ความเร็วสูงขึ้น และปริมาณรถที่วิ่งจะมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตัวอย่างซากสัตว์ป่าที่ถูกรถชนบนถนนที่ตัดผ่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หรือ ปางสีดา สถิติจากเฉพาะถนนที่ตัดผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน พบมีสัตว์ป่าถูกรถชนตายถึงปีละประมาณ 3,000 ตัว มาตรการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวดูจะล้มเหลวในทางปฏิบัติมาตลอดแทบทุกอุทยานฯ อีกทั้งนโยบายกฎระเบียบนั้นก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดขึ้นกับผู้รับผิดชอบ

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

อุทยานฯปิดทางขึ้น "พะเนินทุ่ง" ปรับปรุงถนน วันแรก

ชี้ปรับปรุงถนน "พะเนินทุ่ง" ไม่ต้องทำอีไอเอ

ห่วง "สัตว์ป่าพะเนินทุ่ง" เสี่ยงถูกรถชนตายเพิ่ม แนะปรับปรุงทางขึ้นบางจุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง