ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สธ.เตือนคนไทยไปญี่ปุ่น ระวังโรคหัดเยอรมัน

สังคม
2 พ.ย. 61
13:34
4,204
Logo Thai PBS
สธ.เตือนคนไทยไปญี่ปุ่น ระวังโรคหัดเยอรมัน
กรมควบคุมโรค เตือนผู้ที่จะเดินทางไปญี่ปุ่น ระมัดระวังการระบาดของโรคหัดเยอรมัน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีความเสี่ยงกระทบลูกในครรภ์ได้

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคได้ออกเอกสารแจ้งเตือนประชาชนที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ซึ่งโรคหัดเยอรมันกำลังระบาด ว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคหัดเยอรมันในประเทศญี่ปุ่นนั้น ประเทศไทยมีการแนะนำอยู่ในระดับ 2 คือ Travel Alert ระดับการเฝ้าระวังและแจ้งเตือน ซึ่งไม่ได้ห้ามเดินทาง แต่จะมีคำแนะนำการปฏิบัติตัวเมื่อต้องเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เช่นเดียวกับศูนย์ป้องกันควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกาที่ประกาศเตือนที่ระดับ 2

ทั้งนี้ คนไทยหลายคนได้รับการฉีดวัคซีนมาตั้งแต่เด็ก แต่คนที่ยังไม่ได้ฉีดหากจำเป็นต้องไปญี่ปุ่นขอให้ปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อรับวัคซีนป้องกัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหญิงตั้งครรภ์ หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงไปประเทศญี่ปุ่นในช่วงนี้

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องในประเทศญี่ปุ่น พบว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยข้อมุลล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 1,468 คน จากเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 362 คนเท่านั้น ทำให้กรมควบคุมโรคต้องประเมินสถานการณ์เป็นระยะ ประกอบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์ป้องกันควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา ยกระดับการเตือนประชาชนของประเทศสหรัฐอเมริกาจากระดับที่ 1 เป็นระดับ 2 หลังจากติดตามมาอย่างใกล้ชิด โดยแนะนำให้ผู้ที่จะเดินทางไปญี่ปุ่นฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน และแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงการเดินทางไปญี่ปุ่น

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากหากติดเชื้อหัดเยอรมันจะส่งผลต่อทารกในครรภ์ เสี่ยงพิการ เกิดภาวะหัวใจรั่ว อวัยวะภายในไม่สมบูรณ์ ซึ่งหญิงที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 20 สัปดาห์จะเสี่ยงมาก

ขณะที่ นพ.ชนินันท์ สนธิไชย หัวหน้ากลุ่มพัฒนางานวัคซีนพื้นฐาน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยได้ให้วัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันมาตั้งแต่ปี 2529 โดยให้ในนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งกลุ่มนี้จะมีภูมิต้านทาน ปัจจุบันคือผู้หญิงที่อายุประมาณ 44 ปีลงมา หลังจากนั้นในปี 2536 ขยายการให้วัคซีนโรคหัดเยอรมันแก่นักเรียนทั้งชายและหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนไทยต่ำกว่า 32 ปีลงมา ซึ่งภาพรวมการได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันครอบคลุมสูงกว่าร้อยละ 95 หากใครฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 ครั้ง จะมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 97 อยู่ได้ตลอดชีวิต

ปัจจุบันประเทศไทยให้วัคซีนกับทารกทุกคน 2 เข็ม โดยเข็มแรกให้เมื่ออายุ 9 เดือน และเข็มที่ 2 ช่วงอายุ 2 ขวบครึ่ง ดังนั้นผู้ปกครองควรพาบุตรหลานมารับวัคซีนตามที่นัดหมาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง