ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศธ.จี้ ป.ป.ช.ทบทวนยื่นบัญชีทรัพย์สิน

การเมือง
5 พ.ย. 61
10:55
1,762
Logo Thai PBS
ศธ.จี้ ป.ป.ช.ทบทวนยื่นบัญชีทรัพย์สิน
กรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่งเตรียมลาออกจากตำแหน่ง หลังจาก ป.ป.ช.ออกประกาศให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เนื่องจากมองว่าเป็นตำแหน่งที่่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงาน เป็นเพียงผู้เสนอแนะเท่านั้น ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมหารือ ป.ป.ช.ขอแก้ไขประกาศฉบับนี้

เมื่อวานนี้ (4 พ.ย.2561) นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งรวมถึงนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภา และอธิการบดีของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลว่า ขณะนี้มีนายกสภาหลายแห่งโทรศัพท์เข้ามาปรึกษากับตน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะขณะนี้มีกรรมการสภาหลายแห่งเริ่มทยอยลาออก ทำให้สภาเองเกิดความกังวล หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ สภามหาวิทยาลัยจะเกิดสุญญากาศ ไม่สามารถอนุมัติเรื่องสำคัญๆ ได้ เพราะองค์ประกอบสภาไม่ครบ ดังนั้น จะหารือกับนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ให้ทำหนังสือถึง ป.ป.ช. เพื่อขอให้แก้ไขประกาศดังกล่าว

ขณะที่นายภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ประกาศ ป.ป.ช.ที่กำหนดผู้ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย สิ่งที่ตามมานั้น สร้างผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะกรรมการสภา เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้ยุ่งกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัย มีหน้าที่เสนอ และแนะนำนโยบายของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ไม่มีส่วนได้เสียไม่มีโอกาสที่จะรับเงิน หรือมีโอกาสที่จะร่ำรวยผิดปกติ เพราะไม่ได้ยุ่งกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัย และผลตอบแทนที่ได้มีเพียงเบี้ยประชุมเท่านั้น

ขณะเดียวกัน สภามหาวิทยาลัยมีภาระงานมาก ทำให้กรรมการสภาบางส่วนเห็นว่าเมื่อมาทำงานเสียสละ กลับมีภาระเพิ่มเติมโดยต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินอีก ทำให้กรรมการหลายคนเริ่มพูดคุยกันว่าไม่อยากทำหน้าที่แล้วอย่างมหาวิทยาลัยนครพนมที่เป็นนายกสภาอยู่นั้น ขณะนี้มีกรรมการสภาบางคนเริ่มคุยกันเรื่องลาออกแล้ว เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องแจ้ง เนื่องจากไม่มีส่วนได้เสียกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งถ้าเรื่องนี้ไม่ได้รับการแก้ไข เชื่อว่าหลังจากวันที่ 1 ธันวาคม จะมีกรรมการสภาลาออกจำนวนมาก ต่อไปมหาวิทยาลัยจะหากรรมการสภามาทดแทนยากมากขึ้น โดยจะสร้างปัญหาให้กับอุดมศึกษาทั้งระบบ สรุปแล้วประกาศของ ป.ป.ช.ที่ออกมานั้น จะได้ไม่คุ้มเสีย และไม่เห็นจะมีข้อดีอย่างไร

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง