วานนี้ (7 พ.ย.2561) ศาสตราจารย์สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิบดีแห่งประเทศไทย ประชุมร่วมกับอธิการบดีและตัวแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ ในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลมหาวิทยาลัยราชภัฎ และมหาวิทยาลัยสงฆ์ ในประเด็นประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดให้นายกสภา และกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
โดยทปอ.จะทำหนังสือถึง ป.ป.ช.ในวันนี้ (8 พ.ย.) เพื่อให้พิจารณาข้อกำหนดในประกาศเพื่อให้เหมาะสมกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัย
พร้อมยืนยันว่าเห็นด้วยในหลักการป้องกัน และตรวจสอบการทุจริตในภาครัฐ ซึ่งอธิการบดีและรองอธิการบดีสมควรยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. แต่ไม่ควรให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยซึ่งทำหน้าที่ด้านวิชาการ เช่น การให้ข้อเสนอแนะด้านการเรียนการสอน การอนุมัติหลักสูตร จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย เพราะไม่ได้มีอำนาจเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐโดยตรง

ยืนยันแค่ยุ่งยาก-ไม่เกี่ยวผลประโยชน์
นายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล หรือ มทร. อีสาน ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กล่าวว่า อธิการบดีแต่ละแห่งต่างเป็นห่วงต่อกรณีดังกล่าว เนื่องจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแต่ละแห่งมีจำนวน15 คน ส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน ต่างประสงค์ขอลาออกจากการเป็นกรรมการ
เหตุผลที่ขอลาออก เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยากที่จะต้องมายื่นบัญชีทรัพย์สิน เพราะการเข้ามานั่งเป็นนายกสภา หรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยเข้ามาด้วยใจ ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไร
หนุนให้ "คณบดี"ต้องยื่นบัญชี
ขณะที่นายวีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการ ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งมีเครือข่ายเป็นอาจารย์และกรรมการสภาจากมหาวิทยาลัยกว่า 80 แห่งทั่วประเทศ ได้เดินทางยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. เพื่อสนับสนุน ประกาศของ ป.ป.ช.เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าว เนื่องจากตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย ไม่ใช่มีแค่อำนาจทางนโยบาย แต่มีอำนาจแต่งตั้งอธิการบดีได้
บางคนมาจากภาคเอกชนเข้ามาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยก็นำธุรกิจของตัวเองมารับเหมาภายในมหาวิทยาลัยถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ดังนั้นจึงอยากให้ขยายการยื่นบัญชีทรัพย์สินไปถึงระดับคณบดีด้วย

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า อยากย้ำให้กรรมการสภา อย่าเพิ่ง รีบลาออกเพราะรัฐบาล ทราบปัญหาแล้ว ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ากรรมการสภาจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย จะลาออกยกทีมนั้น ยังทราบว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่
โดยฝากขอร้องว่า อย่าเพิ่งลาออกกัน อยากให้ทุกท่านใจเย็นๆ ขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาก่อน เพราะผลกระทบที่ตามมา คือ มหาวิทยาลัย ต้องสรรหากรรมการสภาใหม่จะเกิดความวุ่นวาย กระทบกับงานบริหารของมหาวิทยาลัยได้
สำหรับประกาศป.ป.ช.กำหนดให้นายกสภา และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะซึ่งจะมีผลบังคับหลังวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน หรือ 1 ธ.ค.นี้ ส่งผลเกิดเสียงสะท้อนในลักษณะไม่เห็นด้วย คัดค้านและพบว่ามีหลายแห่งที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยลาออก