กลายเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อ “นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย” ตบเท้าลาออกจากตำแหน่ง หลังประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บังคับให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และเผยแพร่ต่อสาธารณะ
สาระสำคัญมาตรา 102 พ.ศ.2561 คือ การบังคับให้บุคคลข้างต้นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ไม่เฉพาะทรัพย์สินของ “ตนเอง” รวมถึงภรรยาและบุตร และยังรวมไปถึง “ผู้ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาของผู้บริหารระดับสูง” ก็ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วยเช่นกัน
หลังมีการเผยแพร่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีกรรมการสภามหาวิทยาลัย ลาออกและเตรียมลาออกเป็นจำนวนมาก ก่อนที่ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ธ.ค.2561 สาเหตุหนึ่งคือกลัวความผิดพลาดในการแสดงบัญชีทรัพย์สิน ตั้งแต่ของตนเอง ภรรยาและลูก หรือรวมถึงคนที่อยู่กินฉันสามีภรรยา ต้องเอาทรัพย์สินมาแสดงด้วย และอีกกรณีคือ กลุ่มนักธุรกิจที่นั่งตำแหน่งกรรมการสภาฯ ที่กลัวว่าหากมีความผิดพลาดในการแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ อาจเลวร้ายถึงขั้นเป็นคดีอาญา หรือถูกอายัดบัญชี ซึ่งจะส่งผลต่อเครดิตและธุรกิจที่ทำ
โดมิโน่ จากประกาศมีผลโดยพลัน นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา มีข่าวกรรมการสภามหาวิทยาลัยลาออกต่อเนื่อง ดังนี้
4 พ.ย.
- นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยอมรับว่า นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดีหลายแห่ง โทรศัพท์แจ้งว่ามีนายก-กรรมการลาออก เตรียมหารือร่วม ทปอ. เพื่อยื่นทบทวนต่อ ป.ป.ช.
5 พ.ย.
- นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุ เตรียมหารือเรื่องนี้ร่วมกับ ป.ป.ช.
- นายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน เผยมติที่ประชุม มทร. 9 แห่งยื่น ป.ป.ช.ทบทวบการกำหนดให้นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัยแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
6 พ.ย.
- นายมนตรี นุ่มนาม กรรมการมหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ (มรร.) นายมีชัย ฤชุพันธ์ นายกสภา มรภ.พระนคร และอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงกรรมการภายนอก เตรียมยื่นลาออก วันที่ 17 พ.ย.นี้
- นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ระบุ กรรมการสภา มข. ลาออกแล้ว 5 คน
7 พ.ย.
- ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติยื่น ป.ป.ช.ทบทวนการกำหนให้ นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัยยื่นบัญชีพทรัพย์สินฯ
8 พ.ย.
- นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้หารือกับ ป.ป.ช.เพื่อหาทางออก ซึ่งมีคำถามรวม 10 ประเด็น
นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล
นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล อาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ชุมชน มศว. หนึ่งในผู้สนับสนุนให้นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัยยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา หรืออธิการบดี ออกมาคัดค้านการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ของนายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย เพราะผิดหลัก 3 ข้อ คือ 1.ตรวจสอบได้ 2.เป็นแบบอย่างสังคม และ 3.คนคุมอนาคตการศึกษาประเทศกลับยอมรับเรื่องนี้ไม่ได้ ทั้งที่เป็นผู้ให้ครู-อาจารย์ทำตามมาตรฐานสถาบันการศึกษา ดังนั้นเมื่อบังคับคนอื่น ตนเองต้องยอมให้ตรวจสอบได้
การยื่นบัญชีทรัพย์สิน ไม่ใช่เรื่องมากมายเลย การตรวจสอบอื่นหนักกว่านั้น อย่าทำให้มหาวิทยาลัยเป็นแดนสนธยา
นพ.สุธีร์ ยังระบุอีกว่า ไม่รู้สึกว่ารัฐบาลใช้ความพยายามจริงจังในการแก้ปัญหา เพราะที่ผ่านมาการใช้ ม.44 ใช้ในกณีที่มีความผิดชัดเจนเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาอีกมากที่จะต้องแก้ไขอย่างไรก็ตามการที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการมุ่งเดินหน้าการศึกษาสู่ยุค 4.0 แต่ฐานรากไม่แน่นและไม่มีความเป็นธรรมาภิบาล เสมือนการยืนบนเจดีย์ทรายที่โครงสร้างหลวม จะทำให้การเดินหน้าการศึกษาไม่เกิดผล