ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ใครยื่นขอสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาบ้าง?

สังคม
12 พ.ย. 61
15:11
1,380
Logo Thai PBS
ใครยื่นขอสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาบ้าง?
เปิดคำขอรับสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาขององค์กรในไทยและต่างชาติ พร้อมสรรพคุณทางการแพทย์และการรักษาโรค

จากกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่าบริษัทต่างชาติเข้ามายื่นขอสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชากับกรมทรัพย์สินทางปัญญา อาจกระทบงานวิจัยและต่อยอดผลิตภัณฑ์ของบริษัทไทยในอนาคต ที่จะใช้ทางการแพทย์และเป็นอีกหนึ่งของหวังของผู้ป่วย

ข้อมูลของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สารสกัดจากกัญชาในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสม สามารถนำมาใช้รักษาโรคได้ ซึ่งในหลายประเทศใช้สารสกัดกัญชาในทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมาย

โรคที่มีหลักฐานทางวิชาการวิจัยสนับสนุนชัดเจนว่า กัญชามีประโยชน์ในการรักษา ได้แก่ ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดแล้วคลื่นไส้อาเจียน โรคลมชักในเด็กที่รักษายาก หรือลมชักที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีต่างๆ และผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง

 

 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเส้นประสาทที่รักษาด้วยวิธีการต่างๆ แล้วไม่ได้ผล สารสกัดจากกัญชาอาจจะช่วยบรรเทาอาการปวดของผู้ป่วยลงได้ แต่การนำมาใช้ต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ และเงื่อนไขผู้ป่วยเป็นกรณีไป เพราะกัญชาเป็นยาเสพติดที่ออกฤทธิ์แบบผสมผสาน ทั้งกระตุ้นประสาท กดประสาท และหลอนประสาท ซึ่งในสารสกัดของกัญชามีสาร Tetrahydrocannabino (THC) ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและระบบประสาท

เมื่อเสพกัญชา สาร THC จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและสมองอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เกิดโทษและอาการไม่พึงประสงค์ได้ โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ ซึมเศร้า สับสน ประสาทหลอน กระสับกระส่าย ตื่นเต้น เวียนศีรษะ ปากแห้ง เป็นต้น

สิ่งสำคัญของการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์คือ การคำนึงถึงประโยชน์ต่อผู้ป่วยเป็นหลัก และอาการไม่พึงประสงค์ต้องเป็นที่ยอมรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำกัญชามาใช้ในเด็ก ต้องใช้อย่างระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจส่งผลต่อการพัฒนาทางสมองของเด็ก

 

 

สารสกัดกัญชา ขนาด และปริมาณที่ใช้ต้องถูกต้องตามข้อมูลวิชาการสนับสนุน ซึ่งในอนาคตหากประเทศไทยสามารถปลูกกัญชาเพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์ได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาที่เป็นสารสกัดหรือสารสังเคราะห์กัญชาจากต่างประเทศลงได้ รวมถึงยาอื่นๆ ที่สามารถใช้กัญชารักษาแทนได้เช่นกัน

สำหรับกรณีกัญชาหรือน้ำมันกัญชาใช้ได้ดีในการรักษามะเร็ง ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถือเพียงพอสนับสนุนประเด็นดังกล่าว ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสที่จะส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ ได้ทำการศึกษาวิจัยในการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ในประเด็นของมะเร็งและโรคอื่นๆ ต่อไป

 

 

สำหรับประเด็นการนำกัญชามาใช้รักษาปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น สมองเสื่อม ซึมเศร้า โรควิตกกังวลนั้น ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างรอรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ คณะทำงานเพื่อพิจารณากัญชามาใช้ทางการแพทย์ยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อการดำเนินการให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการรักษาด้วยกัญชาอย่างแท้จริง

 

สารสกัดกัญชารักษาโรค

 

สารสกัดกัญชาใช้ทางการแพทย์ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม

1. สารสกัดจากกัญชาได้ประโยชน์ในการรักษา มีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนชัดเจน

- ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด
- โรคลมชักที่รักษายากในเด็กและโรคลมชักที่ดื้นยา
- ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
- ภาวะปวดประสาทที่ใช้วิธีการรักษาอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล

2. สารสกัดจากกัญชาน่าจะใช้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ ซึ่งควรมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนหรือวิจัยเพิ่มเติม ในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผลเพื่อสนับสนุนการนำมาใช้ เช่น

- โรคพาร์กินสัน
- โรคอัลไซเมอร์
- โรควิตกกังวลไปทั่ว
-ผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง
- ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

3. สารสกัดจากกัญชาอาจมีประโยชน์ในการรักษาแต่ยังขาดข้อมูลจากงานวิจัยสนับสนุนที่ชัดเจนเพียงพอในด้านความปลอดภัยและประสิทธิผล ซึ่งต้องศึกษาวิจัยในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองก่อนนำมาศึกษาวิจัยในมนุษย์ เช่น การรักษาโรคมะเร็งต่างๆ

ทั้งนี้ การนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ทางการแพทย์ จำเป็นต้องคำนึงถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด

 

 

เปิดคำขอรับสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชา

ข้อมูลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาประเทศไทย ระบุว่ามีคำรับขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับกัญชา สาร THC และคานาบินอยด์ ดังนี้

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 0901002555 ประเทศต้นทาง คือ สหรัฐฯ ใช้โมเลกุลในกัญชาเพื่อดูแลด้านเนื้องอกวิทยา สถานะอยู่ระหว่างดำเนินการ

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 01101003758 ประเทศต้นทาง คือ สหรัฐฯ ใช้สารผสมที่มีคานาบินอยด์บริสุทธิ์ 98% สถานะอยู่ระหว่างดำเนินการ

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 1301004593 ประเทศต้นทาง คือ สหรัฐฯ ใช้ผลึกคานาบินอยด์เพื่อลดภาวะการเจ็บป่วย อักเสบ การแพ้ สถานะอยู่ระหว่างดำเนินการ

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 0601006208 ประเทศต้นทาง คือ สหรัฐฯ ยาสำหรับผู้ป่วยจิตเวช สถานะอยู่ระหว่างดำเนินการ

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 0201004561 ประเทศต้นทาง คือ สหรัฐฯ สถานะอยู่ระหว่างดำเนินการ

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 0101001358 ประเทศต้นทาง คือ สหรัฐฯ สูตรเคมี สถานะอยู่ระหว่างดำเนินการ

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 0601000034 ประเทศต้นทาง คือ สหรัฐฯ การเตรียมสารประกอบเพื่อรักษาโรคประสาท สถานะอยู่ระหว่างดำเนินการ

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 1201004672 ประเทศต้นทาง คือ อังกฤษ ใช้โฟโตคานาบินอยด์เพื่อการรักษาโรคมะเร็ง สถานะอยู่ระหว่างดำเนินการ

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 1101003758 ประเทศต้นทาง คือ อังกฤษ เพื่อการรักษาลมบ้าหมู สถานะอยู่ระหว่างดำเนินการ

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 0901002472 ประเทศต้นทาง คือ อังกฤษ โดยใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง สถานะอยู่ระหว่างดำเนินการ

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 1201002753 ประเทศต้นทาง คือ เดนมาร์ก สถานะอยู่ระหว่างดำเนินการ และกำลังจะหมดอายุ

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 0901002777 ประเทศต้นทาง คือ เดนมาร์ก การเตรียมสารเพื่อรักษาโรคทางจิต สถานะอยู่ระหว่างดำเนินการ

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 1201002769 ประเทศต้นทาง คือ เดนมาร์ก การเตรียมสารเพื่อรักษาโรคทางจิต สถานะอยู่ระหว่างดำเนินการ

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 0603000276 ประเทศต้นทาง คือ ไทย การแก้รอยเหี่ยวย่นจากสาร THC สถานะได้รับการคุ้มครองในไทยแล้ว แต่เนื่องจากรหัสเป็นประเภทอนุสิทธิบัตรจึงมีอายุความคุ้มครองที่ 6-10 ปี

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 1103001237 สารสกัดราก หรือดอกกัญชาเทศเพื่อรักษาโรคนอนไม่หลับ สถานะได้รับการคุ้มครองในไทยแล้ว แต่เนื่องจากรหัสเป็นประเภทอนุสิทธิบัตรจึงมีอายุความคุ้มครองที่ 6-10 ปี

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 1001000808 ประเทศต้นทาง คือ ไทย สัดส่วนสมุนไพรที่มีส่วนผสมกัญชาเพื่อรักษาโรคเบาหวาน สถานะอยู่ระหว่างดำเนินการ

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 0501002335 เป็นการจดแบบภาคพื้นยุโรปครอบคลุมทั้งทวีป สูตรเคมีรักษาโรคที่ครอบคลุมของสารสกัดกัญชา สถานะอยู่ระหว่างดำเนินการ

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 0201004306 สถานะละทิ้ง

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 061002798 สถานะละทิ้ง

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 0401001419 สถานะละทิ้ง

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 9501002611 สถานะละทิ้ง

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 0601000019 สถานะละทิ้ง

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 0601005752 สถานะละทิ้ง

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 0601005752 สถานะละทิ้ง

-เลขที่คำขอรับสิทธิบัตร 0401005044 สถานะละทิ้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง