พื้นที่ ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มอบสิทธิที่ดินทำกินให้กับชุมชน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่มอบ “ที่ดินแปลงรวม” 7,282 ไร่ ให้กับ ต.แม่ทา เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดการที่ดิน โดยมีชาวบ้านเข้าใช้ประโยชน์ 1,235 ครอบครัว
การมอบที่ดินแปลงใหญ่อาศัยกลไกตามมาตรา 16 พ.ร.บ.ป่าสงวน คือการเปิดช่องให้กรมป่าไม้มอบพื้นที่ป่าให้ “หน่วยงานรัฐ” ใช้ประโยชน์สาธารณะและเป็นเหตุที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) อธิบายกับชุมชนที่ต้องมอบที่ดินให้กับ “จังหวัด” เป็นผู้ดูแลและยังไม่รวมถึงกรณีที่องค์กรท้องถิ่นหรือนิติบุคคลรับมอบพื้นที่หลักพันไร่ จึงไม่สามารถมอบสิทธิให้ อบต. หรือสหกรณ์ที่ดินการเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ
อ่านเพิ่ม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับ 4) พ.ศ.2559
คำถามกลับมาที่ “ชุมชนแม่ทา” พร้อมแค่ไหนหากเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อไล่เรียงตามประวัติพบความพยายามต่อเนื่อง ตั้งแต่การจัดทำแผนที่ทำมือและแบ่งที่ดินเป็น 4 ประเภท เพื่อวางขอบเขตที่ดินทำกินและที่ป่า แต่ปัจจัยภายนอกกลับมีผลสำคัญที่ทำให้ชุมชนในอดีตต้องกลายเป็น “คนตัดไม้”
ปัจจัยสำคัญคือ การสัมปทานที่ป่าใน ต.แม่ทา ตั้งแต่ก่อนปี 2500 จำนวน 2 โครงการใหญ่ คือปี 2430-2507 มีการสัปทานไม้หมอน ฟืน รถไฟ และช่วงเดียวกัน (ปี 2544-2451) มีการสัมปทานไม้สัก จึงส่งผลให้คนในพื้นที่ยึดอาชีพ “คนตัดไม้” เป็นหลัก แต่หลังจากทรัพยากรเสื่อมโทรมและส่งผลต่อคุณภาพชีวิต รวมถึงกลุ่มนักพัฒนาหรือเอ็นจีโอเข้าร่วมแก้ไขปัญหา “คนตัดไม้” จึงพลิกบทบาทจาก “ผู้ทำลาย” เป็น “ผู้พิทักษ์”
ที่มา : อบต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่
เส้นทางชาวบ้านพิทักษ์ป่า
ปี 2536 จัดตั้งคณะกรรมการป่าไม้ชุมชน เริ่มการโซนนิ่งกว่า 3.7 หมื่นไร่ พร้อมกำหนดกฎเกณฑ์การใช้ป่าและกำหนดบทลงโทษกรณีฝ่าฝืน อีกทั้งยังร่วมมือกับเครือข่ายอื่นๆ ผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชนปี 2540 แต่ไม่สำเร็จ
ปี 2549 การใช้เทคโนโลยีและ GPS กำหนดเขตพื้นที่ แบ่งที่ดิน 4 ประเภท
ปี 2550 ออกบัญญัติตำบล รับรองสถานะคณะกรรมการป่าชุมชนตามกฎหมาย
ปี 2553 เสนอเป็นพื้นที่ออกโฉนดชุมชน
ปี 2558 รัฐบาล คสช.กำหนดเป็นพื้นที่นำร่อง 1 ใน 5 โครงการที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินแปลงรวม
คทช. อำนาจติดที่ “จังหวัด”
นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา กล่าวว่า ช่วงแรกที่มีการมอบที่ดิน แม้อยู่ในความรับผิดชอบของจังหวัด แต่ชุมชมก็ยังคิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะอย่างน้อยก็ลดขั้นตอนการพิจารณาจากระดับประเทศมาอยู่ที่ระดับจังหวัด แต่ในทางปฏิบัติก็เป็นเช่นนั้นจริง เมื่อปีแรกมีการตัดถนน 2 เส้นทางและต่อไฟฟ้าเข้าพื้นที่
กระทั่งปี 2560 (ปีงบประมาณ 2561) มีชุมชนตั้งโครงการตัดถนนเส้นที่ 3 แต่กลับไม่ได้รับการอนุมัติ เพราะจังหวัด (คณะกรรมการชุดใหม่ที่เพิ่งเข้ามา) มีคำถามเกี่ยวกับขอบเขตการพัฒนาพื้นที่ว่าโครงการต่างๆ ข้างต้นตรงกับเจตนาของกรมป่าไม้ที่มอบพื้นที่ให้หรือไม่ จึงส่งคำถามไปยังกรมป่าไม้ในเดือน เม.ย.2560 กระทั่งได้คำตอบกลับมาในเดือน ก.ย.ปีนี้ ระยะเวลาที่สูญเสียไปจึงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านเสียโอกาสและมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาลักษณะนี้ต่อเนื่อง
ความไม่ชัดเจน ทำให้เสียโอกาส 2 ปี หลุดไป 5 โครงการ และปี 2563 จังหวัดก็ยังไม่ตั้งเรื่องให้
กนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายก อบต.แม่ทา
ไม่หลุดวงจรเกษตรพันธสัญญา
สิทธิทำกินที่ไม่ชัดเจน ส่งผลต่อการประกอบอาชีพโดยตรง เพราะประชาชนไม่มีสิทธิในที่ดินและ อบต.รับรองสิทธิไม่ได้ ผลกระทบคือ 1.กรณีการขยายตัวของเกษตรกรรม เช่น ฟาร์มวัว, ฟาร์มหมู, สวนลำไย ฯลฯ ชาวบ้านไม่สามารถขอใบอนุญาตเพื่อก่อสร้างอาคารจาก อบต.ได้ เพราะตามกฎหมาย อบต.รับรองได้เฉพาะที่ดินบางประเภท เช่น นส.3 หรือที่ สค.1 หรือที่มีเอกสารสิทธิชัดเจนเท่านั้น
2.ฟาร์มที่ต้องการหลุดพ้นจากเกษตรพันธสัญญาและตั้งฟาร์มของตัวเอง ต้องการจดทะเบียนนิติบุคคลทำไม่ได้ เพราะไม่มีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารจากข้อ 1 และ 3. กรณีตั้งฟาร์มเอง การเคลื่อนย้ายสัตว์ที่อยู่ในฟาร์มทำไม่ได้ เพราะไม่มีใบอนุญาต ซึ่งการขอใบอนุญาตจะต้องใช้ใบอนุญาตสร้างอาคารด้วย สุดท้ายปัญหาวนกลับเป็นวงกลม เมื่อไม่มีการรับรองสิทธิในที่ดิน
ดังนั้นข้อเสนอของ ต.แม่ทา คือขอให้ชุมชนมีสิทธิใช้พื้นที่ในฐานะผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งภาครัฐสามารถตรวจสอบการใช้พื้นที่และประเมินศักยภาพของประชาชน
ที่มา : อบต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่
ถ้าชุมชนมีศักยภาพก็ให้ทำ คุณจะคุมหรือตรวจว่ามีการบุกรุกก็ได้ อย่างไรชุมชนก็ต้องรับผิดชอบเพราะเป็นพื้นที่เขา, นายก อบต.แม่ทา กล่า
ข้อสรุปที่ได้จากกรณี ต.แม่ทา คือปัญหาในการใช้ที่ดิน แม้ภาครัฐจะใช้คำว่า “มอบ” ที่ดินให้กับชุมชน แต่ในทางปฏิบัติ การอนุมัติขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจังหวัด หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีช่องว่างการตีความถึงการใช้ประโยชน์จากที่ดินตาม พ.ร.บ.ป่าสงวน สุดท้ายชาวบ้านก็ไม่มีสิทธิที่จะ “พัฒนา” พื้นที่ได้ตามความตั้งใจ
ทางออกของปัญหานี้ คือการกำหนดขอบข่ายของ “ประโยชน์” ที่จะใช้พื้นที่ชัดเจน เพื่อลดความคลุมเครือในการตีความระดับจังหวัดและปล่อยให้ชุมชนมีสิทธิที่จะดำเนินการในที่ดินอย่างเหมาะสม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ธนาคารที่ดิน "บ้านโป่ง" ยังไปไม่ถึงฝัน
ไม่รับที่ดินแปลงรวม หวั่นทำลายวิถี “กะเหรี่ยง”