เมื่อวานนี้ (14 พ.ย.2561) นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงกรณีศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ให้ กทพ.จ่ายเงินชดเชยแก่ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด 1,790 ล้านบาท ซึ่งบริษัทย่อยของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM พร้อมดอกเบี้ยรวมประมาณ 4,000 ล้านบาท กรณีมีการสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต เป็นทางแข่งขันนั้น หลัง ครม.มีมติให้ กทพ.เจรจากับเอกชน ทาง กทพ.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาแนวทางเจรจา ขณะนี้มีการตัดจาก 4 แนวทางเหลือ 3 แนวทาง คือ 1.กทพ.จ่ายค่าชดเชยเองทั้งหมด 2.ขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 รวมถึงส่วน D ให้กับ BEM แลกกับค่าเสียหาย และ 3.ให้เอกชนรายใหม่มารับสัมปทานแทน แต่ต้องรับภาระค่าเสียหายให้ กทพ. โดยตัดแนวทางขอให้รัฐบาลช่วยรับภาระออกไป
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการบอร์ด กทพ.เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กทพ.ได้รับทราบแนวทางดำเนินการของ กทพ.แล้ว ซึ่งคณะอนุกรรมการเจรจาจะเร่งสรุป และวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียของแต่ละแนวทาง
เสนอกระทรวงคมนาคมในต้นเดือน ธ.ค. เพื่อเร่งเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป
ขณะนี้ กทพ.มีข้อพิพาทกับ BEM รวม 2 คดี คือ 1.คำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2561 ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ กทพ.ชดใช้ค่าเสียหายแก่ BEM เกี่ยวกับคดีการขอปรับค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัชในปี 2551 เป็นค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย รวม 9,091 ล้านบาท ซึ่งมีรายงานว่า บอร์ด กพท.มอบหมายฝ่ายกฎหมาย ส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดสู้คดีที่ศาลปกครอง เพื่อขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
2.คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2561 สั่งให้ กทพ.ชดเชยรายได้ให้กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BEM วงเงินชดเชยและดอกเบี้ย 4,000 ล้านบาท กรณีก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต แข่งขันทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด