วันนี้ (19 พ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ สบส. เชิญคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งอธิบดี สบส. อัยการ ข้าราชการบำนาญที่มีความเชี่ยวชาญ ร่วมประชุมหารือเพื่อหาข้อสรุปว่า โรงพยาบาลพระราม 2 มีความผิดตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล หรือไม่กรณีหญิงถูกสามีสาดน้ำกรด และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระราม 2 โดยหลังทำแผลเบื้องต้น ได้เดินทางไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลบางมด ตามสิทธิ์ประกันสังคม แต่ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับมาตรฐานการรักษา
เบื้องต้นนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม กล่าวว่า จะนำพยานในเหตุการณ์ครั้งนี้ ทั้งคนขับรถแท็กซี่ 2 คน และบุตรสาวของผู้ตาย เข้าให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการด้วย
นอกจากนั้นจะนำครอบครัวของผู้ตาย ร่วมยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขอให้ตรวจสอบการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ใบอนุญาตขอเปิดใช้อาคาร การออกใบอนุญาตดัดแปลงอาคาร และใบอนุญาตตรวจสอบการใช้อาคารประจำปีและทุก 4 ปี ของโรงพยาบาลพระราม 2 และโรงพยาบาลสหวิทยาการมะลิ
"อัจฉริยะ"ร้องสอบทุจริตเบิกเงินสปสช.
ส่วนวันพรุ่งนี้ (20 พ.ย.) จะร้องทุกข์ต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องการทุจริตเงินเกี่ยวกับการปลอมรายชื่อ เพื่อนำไปขอเบิกเงินการรักษาจากสปสช. และจะเดินทางไปยังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อร้องเรียนเกี่ยวกับการติดสินบนเจ้าหน้าที่กู้ภัย ในการนำผู้บาดเจ็บที่มี พ.ร.บ.หรือประกันภัย มาส่งให้โรงพยาบาล แล้วทางโรงพยาบาลจะให้เงินตอบแทน พร้อมกับมีโบนัสให้
ส่วนกรณีการตรวจสอบมาตรฐานของโรงพยาบาล ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า สบส.ได้ทำการตารวจสอบอาคารที่พบว่ามีการต่อเติม โดยโรงพยาบาลชี้แจงว่า มีการแจ้งขออนุญาตจากทางเขตแล้ว
ตามขั้นตอนการยื่นต่อเขตเป็นเรื่องของอาคารสถานที่ ทางเขตจะออกใบ อ.1 กับ อ.4 ให้ โดยหลังจากได้รับใบอนุญาต โรงพยาบาลต้องนำเอกสารมายื่นที่ สบส. เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ หากได้มาตรฐานจะอนุญาตให้เปิดใช้พื้นที่นั้น แต่ขั้นตอนนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้น
จากการตรวจสอบมาตรฐานเรื่องบุคลากรเบื้องต้น ถือว่ามีครบ แต่ยังมีบางส่วนยังไม่ได้มายื่นเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกับ สบส. ซึ่งทุกคนต้องยื่นเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แบบพาร์ทไทม์ หรือ ฟูลไทม์
ก่อนหน้านี้ สบส.ระบุว่า กรณีที่ต้องนำเรื่องโรงพยาบาลพระราม 2 เข้าที่ประชุมเพราะเป็นกรณีที่มีโทษค่อนข้างรุนแรง มีอัตราโทษทั้งจำและปรับ พร้อมยืนยันว่า การทำงานของ สบส.ไม่ได้ล่าช้า พยายามทำงานให้เร็วที่สุดให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ขณะนี้มีข้อมูล และเตรียมเอกสารที่ได้จากการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงพยาบาลดังกล่าวไว้หมดแล้วรอเพียงความเห็นจากทุกฝ่ายเท่านั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"อัจฉริยะ" เปิดหลักฐานโรงพยาบาลจ่ายสินบนกู้ภัยนำส่งผู้ป่วย