ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"พาณิชย์" สั่งเพิกถอนคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชา

สังคม
20 พ.ย. 61
07:48
3,764
Logo Thai PBS
"พาณิชย์" สั่งเพิกถอนคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชา
รมว.พาณิชย์สั่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพิกถอนคำขอจดสิทธิบัตรกัญชา 1 คำขอภายในสัปดาห์นี้ ส่วนอีก 8 คำขออยู่ระหว่างตรวจสอบว่าจะเพิกถอนได้หรือไม่ ขณะที่กลุ่มเอฟทีเอ วอทช์ เรียกร้องให้ยกเลิกคำขอจดสิทธิบัตรกัญชาทั้งหมด

หลังมีบริษัทต่างชาติในประเทศไทย ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตั้งแต่ปี 2547-2559 จำนวน 11 คำขอ ซึ่งมีการละทิ้ง 2 คำขอ เนื่องจากไม่มีการขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ภายในเวลาที่กำหนด ส่วนคำขอที่เหลืออีก 8 คำขอ ไม่ใช่สารสกัดกัญชา แต่เป็นคำขอที่มีการใช้สารสกัดกัญชาเป็นองค์ประกอบ อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบการประดิษฐ์ และประกาศโฆษณารอให้ผู้ยื่นตรวจสอบคำขอ อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะยกเลิกได้หรือไม่

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ได้สั่งให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาใช้อำนาจสั่งยกเลิกคำขอจดสิทธิบัตรกัญชา 1 คำขอตามมาตรา 30 เพราะคำขอดังกล่าวขัดกฎหมายสิทธิบัตรมาตรา 9 (1) เนื่องจากเป็นสารสกัดจากพืช ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

ร้องยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชาทั้งหมด

กลุ่ม เอฟทีเอ วอทช์ ให้ความเห็นว่าการแก้ปัญหาของกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่จริงใจ พร้อมเรียกร้องเปิดเผยข้อมูลการยื่นขอจดสิทธิบัตรทั้งหมด และยืนยันต้องยกเลิกคำขอจดสิทธิบัตรกัญชาทั้งหมด เพราะผิดกฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 9 ชัดเจนตั้งแต่แรก

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ วอทช์ ระบุว่าการยกเลิกคำขอจดสิทธิบัตรกัญชาเพียง 1 คำขอไม่เพียงพอ แสดงถึงความไม่จริงใจในการแก้ปัญหา แต่สิ่งที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องเร่งทำคือการตรวจสอบคำขอที่เหลือทั้งหมดและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน ส่วนคำขอจดสิทธิบัตรกัญชาทั้งที่ประกาศโฆษณาและอยู่ระหว่างการตรวจสอบการประดิษฐ์ ต้องเร่งตรวจสอบว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ โดยต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

ด้านเภสัชกรอนันต์ชัย อัศวเมฆิน อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่า สิ่งที่ต้องมองควบคู่กับการแก้กฎหมายคือ การวางระบบกำกับดูแล ซึ่งเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่ต้องกำหนดแนวทางให้ชัดเจนและรัดกุมว่าควรปลดล็อกทางกฎหมายที่ระดับใด เพื่อการเข้าถึงของผู้ป่วยที่สามารถนำกัญชามารักษาได้เอง เพราะขณะนี้ มีข้อถกเถียงว่า การให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ดำเนินการทั้งระบบ เป็นการผูกขาดหรือไม่ โดยต้องพิจารณาจากการเข้าถึงทางการแพทย์ในระดับที่ควรจะเป็น ลดความเสี่ยงของการใช้กัญชา ความปลอดภัยต่อสาธารณะ และการจัดการห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด

ทั้งนี้ เภสัชกรอนันต์ชัยจะนำข้อเสนอทั้งหมด เสนอต่อ นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาวางระบบการควบคุมการใช้กัญชาทางการแพทย์ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง