ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มติ สบส.ลงดาบ รพ.พระราม 2 ใน 5 ความผิด โทษปรับ-จำคุก

สังคม
20 พ.ย. 61
12:51
29,656
Logo Thai PBS
มติ สบส.ลงดาบ รพ.พระราม 2 ใน 5 ความผิด โทษปรับ-จำคุก
มติลงโทษโรงพยาบาลพระราม 2 ไร้มาตรฐานในการส่งต่อผู้ป่วยถูกสาดน้ำกรดวิกฤตฉุกเฉินจนทำให้เสียชีวิต โดยจะแจ้งความร้องทุกข์ 5 ความผิดใน 3 กระทงตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ต่อผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล

วันนี้ (20 พ.ย.2561) นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) พร้อมด้วย นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดี สบส., ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และนางจันฑนา จินดาถาวรกิจ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย ร่วมแถลงผลสอบสวนของคณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงข้อร้องเรียนคณะที่ 1 พิจารณากรณีโรงพยาบาลพระราม 2 ปฏิเสธการรักษา น.ส.ช่อลัดดา ทาระวัน คนไข้ถูกสาดน้ำกรด จนทนพิษบาดแผลไม่ไหวและเสียชีวิต หลังจากวานนี้ (19 พ.ย.) ได้รับฟังข้อมูลจากทั้งฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องไปแล้ว

 

อธิบดี สบส. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่โรงพยาบาลพระราม 2 เพื่อรวบรวมข้อมูลขณะเกิดเหตุ ทั้งจากเอกสารทางการแพทย์ ภาพจากกล้องวงจรปิด และสอบปากคำเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล โดยนำข้อมูลเสนอให้กับที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ซึ่งจากการหารือของคณะอนุกรรมการฯ มีมติแจ้งความร้องทุกข์กับผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล โดยแยกเป็น 5 ความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ดังนี้

1. กรณีให้พยาบาลวิชาชีพเป็นผู้ตรวจ ประเมินอาการและรักษาผู้ป่วยเบื้องต้น โดยไม่ได้รายงานแพทย์ ซึ่งคณะกรรมการมีมติว่าอาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 34 (1) และ (2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท

2. กรณีที่ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลสั่งการให้รับผู้ป่วยไว้เป็นผู้ป่วยใน เท่ากับว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ก่อน ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นลักษณะนี้ คณะกรรมการมีมติว่าอาจเข้าข่ายไม่ควบคุมผู้ประกอบการวิชาชีพเวชกรรม เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 34 (2) จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท

3. กรณีไม่ได้ให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยฉุกเฉิน ตรวจคัดแยกระดับฉุกเฉินตามมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ อาจเข้าข่ายความผิดตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 35 (3) และ (4) มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งคณะกรรมการมีมติให้เปรียบเทียบปรับ

4. ไม่มีการดูแลให้การช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในสภาวะอันตรายและจำเป็นต้องรับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน อาจจะเข้าข่ายไม่ดำเนินการตามมาตรา 33 วรรค 1 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 36 วรรค 1 จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท

และ 5. การที่รับช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยแล้ว แต่ผู้ป่วยต้องการจะย้ายไปโรงพยาบาลอีกแห่งที่มีสิทธิรักษาพยาบาล เรื่องนี้เข้าข่ายการส่งต่อไม่เหมาะสม อาจมีความผิดตามกฎหมาย มาตรา 36 วรรค 3 จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่ง สบส.จะมีคำสั่งให้โรงพยาบาลพระราม 2 แก้ไขเรื่องมาตรฐานการส่งต่อผู้ป่วย ภายใน 15 วัน

ยังไม่สั่งปิดโรงพยาบาล 

ทั้งนี้ คณะกรรมการมีมติให้แจ้งความร้องทุกข์ในการกระทำผิดทั้ง 5 กรณีต่อพนักงานสอบสวน สน.ท่าข้าม ในวันพรุ่งนี้ (21 พ.ย.) เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมต่อไป โดยความผิดทั้ง 5 กรณีถือเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ต้องรับผิดชอบ ส่วนการพิจารณาโทษตามความผิดขึ้นกับดุลยพินิจของศาล หลังจากเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

โรงพยาบาลพระราม 2 มีบางอย่างที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น การส่งต่อผู้ป่วยด้วยรถแท็กซี่ พยาบาลไม่รายงานแพทย์รับเป็นผู้ป่วยในโดยไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ ส่วนกรณีอื่นต้องช่วยกันเฝ้าระวัง และยังยืนยันว่ายังไม่สั่งปิดโรงพยาบาล

ส่วนกรณีพยาบาลไม่ได้แจ้งแพทย์เวรนั้น เข้าข่ายไม่เป็นไปตามจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ โดยจะส่งเรื่องให้สภาการพยาบาลพิจารณาดำเนินการต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คกก.แถลงผลสอบกรณีสาวถูกสาดน้ำกรด พรุ่งนี้

"อัจฉริยะ" นำพยานคดีหญิงถูกสามีสาดน้ำกรด ให้ข้อมูล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง