วันนี้ (26 พ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกรมปศุสัตว์ตรวจพบการปนเปื้อนสารพันธุกรรมเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในไส้กรอกของนักท่องเที่ยวจีนนำเข้ามาในไทย ก่อนหน้านี้ จีนเพิ่งจะทำลายหมูจากการติดเชื้อไปจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในกลุ่มภาคเหนือ ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ทั้งนี้เจ้าของฟาร์มเลี้ยงหมู ในพื้นที่ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ต้องคอยดูแลแม่พันธุ์กว่า 1,000 ตัว ที่กำลังให้นมลูกภายในคอกอย่างใกล้ชิด พร้อมป้องกันเชื้อโรคต่างๆ ด้วยการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อเป็นประจำหลังมีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกาในประเทศจีนจนทางการจีนต้องทำลายหมูเป็นจำนวนมาก
นายวิกรม จันทรเปารยะ เจ้าของยุพาฟาร์มเลี้ยงหมู กล่าวว่า การเกิดโรคระบาดทำให้เริ่มกังวล ตอนนี้จึงต้องเพิ่มการเฝ้าระวัง หมั่นทำความสะอาด โดยเฉพาะกับรถบรรทุกที่มารับหมูจากฟาร์มต่างๆไปส่งยังปลายทาง
รถจับหมูเป็นอันดับแรกๆที่ต้องฆ่าเชื้อให้ดีที่สุด และคงไม่ใช่แค่โรคอหิวาต์สุกรแอฟริกา แต่ทุกโรคที่ต้องเฝ้าระวัง
ด้านนส.พ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ล่าสุดได้มีการพบการปนเปื้อน สารพันธุกรรมของเชื้ออหิวาต์สุกรแอฟริกา ในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกปริมาณ 800 กรัม ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนำติดตัวมาจากเมืองเฉินตู เข้ามาที่ด่านกักสัตว์ท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวงจ.เชียงราย
จึงได้สั่งเพิ่มมาตรการตรวจสอบ และคุมเข้มสินค้าและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง รวมถึงคุมเข้มพื้นที่ตามแนวชายแดนทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้นำเข้าเนื้อหมูจากจีนเข้ามาในประเทศไทย
ขณะนี้มีมาตรการเฝ้าระวังผู้โดยสารที่มาจากประเทศเสี่ยงที่นักท่องเที่ยวนิยมนำอาหารเข้ามาด้วย เช่นไส้กรอก เพื่อป้องกันโรคระบาด
ด้านบุรินทร์ สรสิทธิ์สุขสกุล ผอ.กองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ขณะนี้มีมาตรการเฝ้าระวังบริเวณชายแดนที่มีการเข้าออก จะต้องตรวจสอบสินค้านำเข้า ส่งออก เพราะอาจจะนำสินค้าที่เป็นพาหะนำโรคเข้ามาได้
รายงานระบุว่าพบโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกา ในประเทศจีนตั้งแต่ต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มแพร่กระจายไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีการบริโภคและนำเข้าเนื้อหมูจากประเทศจีน ต้นเหตุการแพร่ระบาดน่าจะมาจากเนื้อหมูมากกว่าหมูตัวเป็นๆ
สำหรับอหิวาต์สุกรแอฟริกา เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสัตว์ตระกูลสุกร มีหมูป่าเป็นแหล่งรับโรคและมีเห็บอ่อนเป็นพาหะนำโรค โรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นในอนุภูมิภาคซาฮารา ของทวีปแอฟริกาประเทศซาดิเนียของทวีปยุโรป
ต่อมาพบการระบาดในประเทศจอร์เจีย อาเซอร์ไบจัน และประเทศในทวีปเอเชีย แม้จะไม่มีอันตรายต่อมนุษย์ แต่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อหมู เพราะหลังรับเชื้อจะมีอาการไข้สูงเลือดออก และตายลงภายในไม่กี่วัน ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยาในการรักษา