ไม่เพียงรวบรวมศาสตร์หลายแขนงไว้ในการแสดง ทั้งดนตรี วิจิตรศิลป์ พัสตราภรณ์ และวรรณกรรม หากคุณค่าของ “โขน” ยังอยู่ที่การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม พบทั้งการแสดงในราชสำนัก ไปจนถึงการฝึกสอนในสถานศึกษา และระดับชาวบ้าน เป็นการแสดงที่มีการปฏิบัติสืบทอดอยู่ทั่วประเทศ นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของ UNESCO ครั้งที่ 13 ที่เมืองพอร์ตหลุยส์ ประเทศมอริเชียส พิจารณาขึ้นทะเบียน “โขน” เป็น “มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” ท่ามกลางความเห็นชอบของประเทศภาคีสมาชิกในที่ประชุม ที่ปีนี้มีเข้าร่วมทั้งหมด 24 ประเทศ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มรดกทางวัฒนธรรมของไทยได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO
การขึ้นทะเบียนตามอนุสัญญามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของ UNESCO มีทั้งหมด 3 ประเภท คือรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ หรือ representative list รายการที่ต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน หรือ urgent list และรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการสงวนรักษา หรือ good practice โดยประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ของยูเนสโก ในลำดับที่ 171 เมื่อปี 2559 และในวันที่ 28 มีนาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ประเทศไทยเสนอ “โขน” เข้าสู่การพิจารณาเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ หรือ representative list โดยมีสาระสำคัญว่า “โขนไทย” เป็นการแสดงที่มีการปฏิบัติสืบทอดอยู่ทั่วประเทศ
ขณะที่ “ละครโขล วัด สวาย อันเดต” หรือ “ละครวัดสวาย” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในรายการที่ต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน หรือ urgent list โดยในเอกสารที่กัมพูชาเสนอต่อคณะกรรมการฯ ระบุว่าละครโขลฯ เป็นการแสดงในพิธีกรรมเพื่อสื่อสารกับ “Neak Ta” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้ปกป้องและบันดาลความสมบูรณ์ของผลผลิตตามความเชื่อของชุมชน แม้ทุกวันนี้ยังมีการฝึกสอนเยาวชนอยู่ แต่มีครูละครโขลสูงวัยอยู่เพียง 5 คนเท่านั้น และผลกระทบจากการปกครองโดยเขมรแดง ทำให้ปัจจุบันไม่สามารถฝึกสอนบทสำคัญ เช่น พระราม พระลักษณ์ นางสีดา ได้ ซึ่งในเอกสารยื่นเสนอ “ละครโขล วัด สวาย อันเดต” เป็นมรดกทางวัฒนธรรม กัมพูชาได้ระบุไว้ด้วยว่าขอให้ UNESCO ช่วยสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเทศอื่นๆ ด้วย
ในวาระสำคัญที่ UNESCO ขึ้นทะเบียนโขนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ รัฐบาลไทยได้เตรียมจัดเทศกาลโขน ประมาณกลางเดือนธันวาคม 2561 โดยกิจกรรมแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ กิจกรรมยกย่องเชิดชูเกียรติให้กับบุคคลองค์กรผู้ทำคุณประโยชน์ต่อวงการโขน เผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การเสวนา การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ ผลิตแอนิเมชัน ฯลฯ และจะมีการจัดมหกรรมการแสดงโขนใน 4 ภูมิภาค และในส่วนกลางที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ยูเนสโก" ขึ้นทะเบียน "ละครโขล" ของกัมพูชา เป็นมรดกวัฒธรรมที่จับต้องไม่ได้