วันนี้ (4 ธ.ค.) วันแรกของการรณรงค์ "งด" ใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ลงพื้นที่สำรวจตลาดและบริเวณร้านสะดวกซื้อในย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ พบว่าพ่อค้าแม่ค้าเกือบทุกร้านยังคงนำพลาสติกหูหิ้วใส่สินค้าให้กับลูกค้าตามปกติ ขณะเดียวกันก็พบว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยนำถุงผ้าหรือตะกร้าติดตัวมาด้วย
จากการสอบถามประชาชนที่มาซื้อสินค้าในย่านดังกล่าว บางคนทราบว่าวันนี้เป็นวันรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก ขณะที่บางคนบอกว่าใช้ถุงผ้ามาก่อนหน้านี้แล้ว
น.ส.ชุตินันท์ ทรงสนิท พนักงานออฟฟิศ วัย 31 ปี บอกกับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า ทราบว่าวันนี้มีการรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ซึ่งส่วนตัวใช้ถุงแบบอื่นทดแทนมานานแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นการช่วยลดขยะอีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันในที่ทำงานก็รณรงค์ให้พนักงานใช้ปิ่นโตใส่อาหารมารับประทาน ซึ่งพนักงานบางส่วนก็ตอบรับ เพราะเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดี
เช่นเดียวกับ น.ส.ชลธิชา เหล่าฤชุพงศ์ วัย 27 ปี ที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้แสดงความเห็นต่อมาตรการงดแจกถุงพลาสติกว่า เห็นด้วยกับมาตรการนี้ เพราะเป็นการช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกและลดจำนวนขยะที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากในแต่ละวันมีคนใช้ถุงพลาสติกจำนวนมาก
การใช้ถุงผ้าจะช่วยลดขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นได้ ถ้าในหนึ่งวันเราเข้าร้านสะดวกซื้อ 3 ครั้ง อย่างน้อยก็จะช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกได้ 3 ใบ
พร้อมระบุอีกว่า การทิ้งขยะเรี่ยราด ไม่ทิ้งลงถังขยะ เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง นอกจากจะก่อให้เกิดความสกปรกแล้ว ยังกระทบต่อสัตว์หลายชนิด เช่น สัตว์ทะเล ซึ่งทุกครั้งที่เห็นข่าวสัตว์ทะเลตายเพราะขยะพลาสติกจะรู้สึกสงสารและหดหู่ใจ จึงไม่อยากให้มีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก
แคมเปญรณรงค์ให้ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้องดบริการถุงพลาสติก เพื่อหวังลดขยะพลาสติกนั้น แม้หลายคนมองว่าเป็นมาตรการที่ดี แต่ก็มีเสียงสะท้อนว่าไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยมองว่าการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนส่วนหนึ่งควรเริ่มจากการสร้างจิตสำนึก
รศ.รัตนาภรณ์ อัตธรรมรัตน์ อดีตอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า การแก้ไขปัญหาควรเริ่มต้นจากการสร้างจิตสำนึกให้คนตระหนักถึงภัยของขยะพลาสติก โดยครอบครัวและสถานศึกษาควรปลูกฝังเด็กและเยาวชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงการลดใช้ถุงพลาสติก เพื่อให้โลกมีภาวะสมดุลมากยิ่งขึ้น แม้ไม่เห็นผลในระยะเวลาอันใกล้ แต่เชื่อว่าในอนาคตจะเห็นการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ไทยพีบีเอสออนไลน์ยังได้สังเกตการณ์บริเวณหน้า "ร้านสะดวกซื้อ" ที่มีลูกค้าเข้าใช้บริการจำนวนมากในแต่ละวัน จึงทำให้มีปริมาณการใช้ถุงพลาสติกมากขึ้นตามไปด้วย จากการสอบถามผู้ใช้บริการบางส่วนให้ข้อมูลว่า วันนี้พนักงานร้านสะดวกซื้อบางแห่งหยิบของใส่ถุงโดยไม่ได้สอบถามความต้องการของลูกค้า ขณะที่บางแห่งสอบถามลูกค้าก่อนว่าจะรับถุงพลาสติกใส่ของหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โพลไทยพีบีเอสชี้ ปชช.ส่วนใหญ่พร้อมงดใช้ถุงพลาสติก
ตั้งเป้าลดถุงพลาสติกปีนี้ 3,600 ล้านใบ