ยานยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นอนาคตใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากแนวโน้มของโลกที่กำลังจะเปลี่ยนไปรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ขณะที่ประเทศไทยเริ่มขยับทิศทางที่จะปรับเปลี่ยนไปใช้งานมากขึ้น
นายสุเมฆ ปัณฑรานุวงศ์ ประธานมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากมติ ครม.2558 ให้วางแผนรองรับยานยนต์สมัยใหม่ และตามแผนพลังงานของกระทรวงพลังงานภาครัฐ หวังว่าจะมียานยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคัน ตามแผนงานที่วางไว้ทั้งหมด 3 ระยะ ในขั้นของการเตรียมความพร้อมขั้นที่ 1 ทั้งเรื่องของนโยบาย กฎระเบียบ แนวทางสนับสนุนในปี พ.ศ.2559 -2560
ส่วนระยะที่ 2 ในปี 2560-2561 ขั้นตอนของการขยายส่งเสริมสถานีอัดประจุไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้งานในภาคขนส่ง และในระยะที่ 3 ปี 2563-2564 จะส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล คาดว่าในปี 2579 จะมียานยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคัน
มีความกังวลว่า หากมีการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะกระทบกับยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) แต่ข้อเท็จจริงคือเรื่องของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าพัฒนาไปเร็ว ดังนั้นการกีดดันจะค่อนข้างลำบาก จุดนี้จึงอาจจะเป็นโอกาสที่ไทยใช้เป็นช่องทางพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
จีนนำหน้ายานยนต์ไฟฟ้า
หากเทียบกับตลาดโลกประเทศจีนมาแรงมาก ตัวเลขเมื่อปี 2558 ยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกอยู่ที่ราว 1.3 ล้านคัน อยู่ในจีน 500,000 คัน หรือกว่าครึ่งของจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ส่วนที่เหลืออยู่ในประ เทศแถบสแกนดิเนเวีย ยุโรป และเยอรมนี คาดว่าอนาคตจะมีมากขึ้น ขณะที่เวียดนาม ขณะนี้ให้ความสำคัญค่อนข้างมาก และเปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว ในงานมอเตอร์โชว์กรุงปารีส และรัฐบาลเวียดนามส่งเสริมการผลิตอย่างจริงจัง
ขณะที่ในสิงคโปร์ ภาคเอกชนก็ร่วมมือกับรัฐบาลเดินหน้าอุตสาหกรรมยายนต์ไฟฟ้าเช่นกัน ดังนั้นประเทศไทยที่ขึ้นชื่อว่าดีทรอยด์ตะวันออก ต้องเร่งสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นต่อผู้บริโภคต่อ ทั้งนี้ การที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งมีผู้ประกอบการจากหลายภาคส่วน จะเดินหน้าหรือปรับตัวขึ้นอยู่กับภาครัฐที่ต้องมีความชัดเจน
พื้นฐานของไทยทำได้แน่นอน แต่ความชัดเจนของนโยบาย คาดการณ์ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะไม่เข้ามาเป็นตลาดใหญ่ แต่จะเป็นรถยนต์ทางเลือก หรือเป็นรถยนต์คันที่ 2-3 ของครัวเรือน
นับถอยหลังหมดยุดรถยนต์น้ำมัน
ด้าน ผศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า นโยบายการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้า เริ่มมาตั้งแต่ 2558 เน้น 5 เรื่องสำคัญ 1.ผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำในด้านยานยนต์ไฟฟ้าของเอเชียให้ได้ 2.เกิดการใช้จากผู้ที่ใช้รถใหม่ 3.ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ 4.การพัฒนาวิจัยและยานยนต์ในไทย เพราะที่ผ่านมาเป็นเพียงฐานการผลิต 5.การส่งเสริมการลงทุน ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก
โจทย์สำคัญคือ ภาครัฐจะต้องทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการยานยนต์ไปต่อได้ เพราะที่ผ่านมาเน้นการผลิตและไทยผลิตรถยนต์เกิน 2 ล้านคัน จำนวน 800,000 คัน ใช้ในประเทศ และอีกจำนวน 1,200,000 คันส่งออก จุดสำคัญคือ ณ วันนี้ หากต้องการเดินหน้ายานยนต์ไฟฟ้าต้องเริ่ม เพราะรถที่ออกสู่ตลาดในวันนี้ เป็นรถที่ผ่านการวิจัยและพัฒนามาตั้งแต่ 3-5 ปีที่แล้ว
ขณะที่ปัจจัยเร่งจากภาครัฐที่จะช่วยเหลือให้กระบวนการเหล่านี้เดินหน้าอย่างรวดเร็วมากขึ้น หากเทียบกับต่างประเทศ คือ การทำให้รถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกกว่ารถยนต์ระบบสันดาป (ICE) ภายในหรือการให้ส่วนลด เช่น กรณีของรถยนต์คันแรกที่รัฐบาลเคยทำโดยให้ส่วนลด แต่ผลที่ตามมาคือกำลังซื้อมีในช่วงแรกแต่ต่อมาก็ชะลอตัว
ขณะที่อีกหลายประเทศ ประกาศยกเลิกการใช้รถยนต์ระบบสันดาปในช่วง 10-20 ปี ข้างหน้า โดยประ เทศนอร์เวย์ ในปี ค.ศ.2025 ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปีค.ศ.2030 และประเทศเยอรมนี ในปี ค.ศ. 2030 อังกฤษ ในปี ค.ศ.2040 และฝรั่งเศส ในปีค.ศ.2040
เมื่อใดก็ตามที่ทำให้เห็นได้ชัดว่า รถยนต์ระบบเดิมมันไม่มีอนาคต ตอนนี้หลายประเทศยุโรปเกิดกระแสนี้ขึ้น และวางเป้าหมายไว้ในปี 2040 และเชื่อว่าอาจจะเร็วกว่าปี 2040
ไทยต้องวางแผน เพราะกว่าจะไปถึงต้องให้เห็นชัดว่าควรมีสัดส่วนรถยนต์เท่าไหร่ วางไว้ 2036 รถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1.2 ล้านคัน สถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 600 สถานี ตัวเลขอาจไม่สอดคล้องเพราะควรจะมีราวร้อยละ 10 หรือประมาณ 100,000 สถานี
รวมถึงจากนี้ควรมีการกำหนดทิศทางว่าในแต่ละระยะรถยนต์ไฟฟ้า ควรจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเท่าใดเพื่อให้ไปถึงเป้า 1.2 ล้านคัน ควรตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนมากขึ้น
"รถไฟฟ้า"ถูกกว่าน้ำมัน
นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มมีรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบปลั๊กอินไฮบริดจ์ (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV) จำหน่ายในตลาดมากขึ้น โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจำนวนรถยนต์ PHEV เพิ่มมากขึ้นกว่า 10,000 คัน
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 100% บางค่ายเริ่มนำออกมาจำหน่ายในปีนี้ นอกจากนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีการเตรียมความพร้อม เรื่องโครงสร้างพื้นฐานในการติดตั้งสถานอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ ปัจจุบันมีมากกว่า 200 จุดทั่วประเทศ
ทั้งนี้ แม้ว่าในขณะนี้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่ารถยนต์เครื่องยนต์ 1.5-2 เท่า แต่รถยนต์ไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายของพลังงานที่ต่ำกว่า หากเปรียบเทียบรถยนต์ไฟฟ้าจะมีค่าใช้จ่ายของพลังงานอยู่ที่ 0.5 - 1.0 บาทต่อกม.ต่ำกว่ารถยนต์เครื่องยนต์หรือไฮบริดจ์ ที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1.5-2.5 บาทต่อกม. ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า คนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นกลุ่มคนที่ชื่นชอบเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ และมีกำลังทรัพย์พอ และอาจจะเป็นรถยนต์คันที่ 2 หรือรถสำรอง และอาศัยในเมืองที่มีการเดินทางไม่เกินวันละ 100 กม.ต่อวัน
ทั้งนี้ คาดว่าในช่วง 2-3 ปี ข้างหน้า เทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ดีขึ้น และราคาที่ถูกลง ค่ายรถยนต์ต่างๆจะนำรถยนต์ไฟฟ้าออกมาจำหน่ายอีกหลายรุ่น จะเกิดการแข่งขันระหว่างค่ายรถด้วยกันมากขึ้น คนส่วนใหญ่จะมีทางเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และสามารถซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาที่เหมาะสม
แผนไทยยังไม่ชัด
ด้านนายครรชิต ไชยสุโพธิ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวว่า หากมองทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ มีแนวโน้มว่าจะไปในทิศทางของรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แต่ภาคอุตสาหกรรมไทยอาจมีความกังวล แต่ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง และทำให้ไทยปรับตัวและมาอยู่ในอันดับ 12 ของโลกได้
สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือการจะต้องปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้ง จากนี้ไปผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วน จะหลีกเลี่ยงไมได้แล้ว เราต่อต้านไม่ได้เทคโนโลยีที่จะเข้าสู่ไทยไม่ได้แล้ว
ทั้งนี้ มาตรการภาครัฐจะเป็นตัวเร่ง โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องการให้ไทย เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีการผลิตร้อยละ 25 ของยอดการผลิตทั้งหมดในปี 2036 แต่ข้อเท็จจริงยังไม่มีแผนการปฏิบัติและยังไม่มีการเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เดินหน้าต่อ
ที่สำคัญคือไทยจะต้องไม่เป็นผู้นำเข้า และจะต้องเป็นฐานการผลิต เนื่องจากไทยมีผู้ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่เหล็ก พลาสติก เส้นใย หนัง ซึ่งทั้งหลายอุตสาหกรรมต้องทำต่อเนื่องไป และบางส่วนอาจต้องปรับเปลี่ยนให้เข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ รวมถึงระบบปลายน้ำที่ต้องคำนึงถึงเช่นระบบลิสซิ่ง โชว์รูม ศูนย์บริการต่างๆ การดูแลหลังการขาย ต้องปรับตัวทั้งกระบวนการ
ปัจจัยที่จะสร้างความสมดุลระหว่างเทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีเก่า หลายประเทศมีการพัฒนาเครี่องยนต์ดีเซลและเบนซิน ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น จุดสำคัญที่จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นได้คือ ระบบโครง สร้างพื้นฐานเช่น สถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจ แต่ในขณะนี้รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่มาแทนรถยนต์ดั้งเดิมในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากผู้บริโภคยังต้องใช้ความเข้าใจ
นายครรชิต กล่าวว่า การส่งเสริมจากภาครัฐในภาคของการผลิตค่อนข้างมาก แต่กลุ่มผู้บริโภคยังไม่เพียงพอ ภาครัฐควรส่งเสริมด้วยมาตรการที่ไม่ใช้เงินเพิ่มเติม เช่น การให้ช่องทางพิเศษที่จอดรถพิเศษ หรือ การเข้าเขตเมือง รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจการใช้งานรถไฟฟ้า เช่น หัวชาร์จแบบต่างๆ แบตเตอรี่สถานที่อัดประจุไฟฟ้าและอื่น รวมถึงการบริการหลังการขาย การซ่อมบำรุง หรือเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น แบตเตอรี่หมดจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคสะดวกในการใช้มากที่สุด และการดูแลในกรณีฉุกเฉินเช่นการกู้ภัย ที่อาจแตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป
อยากให้การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้ายั่งยืน เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจ ไม่ใช่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ประทับใจขึ้นเพียงครั้งเดียว และทำให้กลัวการใช้รถไฟฟ้า
อ่านข่าวเพิ่มเติม