ไม่อยากทิ้งขยะไว้ในโลก อยากทำรถที่ใช้พลังงานสะอาด ทุกคนสามารถใช้ได้โดยไม่สร้างภาระให้กับโลกใบนี้
แนวคิดของ ภาคิไนย ทองบุญ (โอ๊ค) วัย 32 ปี ดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ นำไปสู่การรวมกลุ่มกับเพื่อน 5-6 คน ก่อตั้งบริษัทอีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด ทำตามความฝันของผู้ที่จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม ที่เชื่อว่า "รถ" คือจุดสูงสุดของการออกแบบผลิตภัณฑ์
เมื่อความฝันถูกต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ ภาคิไนย ลงขันรวบรวมเงินลงทุนหลักล้านบาท พัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รุ่น "อีทรานคราฟ" และมีนายทุนส่วนหนึ่งสนับสนุนสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ พบว่าการออกแบบยานยนต์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย
ไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยียานยนต์ หากกลุ่มของตัวเองเลือกผลิตรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงก็จะไม่แตกต่างกับผู้ผลิตรายอื่น
ช่วงปีแรกที่ทางกลุ่มเริ่มออกแบบรถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้า เริ่มต้นด้วยการหาความรู้จากหนังสือ อินเทอร์เน็ต และปรึกษาอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านไฟฟ้า สำรวจความต้องการของกลุ่มลูกค้า เพื่อพัฒนารถที่ตอบโจทย์ลูกค้าจำนวนมากในทุกระดับ ซึ่งอาจมีการผลิตรถออกมาหลายรุ่น กระทั่งนำไปเปิดตัวและพบว่ารถที่ผลิตออกมาคันแรกยังไม่สมบูรณ์ และต้องปรับแก้หลายจุด
เรามองว่าทำแล้วต้องขายได้ แต่ยังไม่สามารถทำได้ ความสวยงามเป็นเรื่องรสนิยมของแต่ละคน ประกอบกับมีมาตรฐานมากพอสมควรที่ต้องต่อสู้เพื่อนำไปผลิตขายในอุตสาหกรรม
4 ปีเดินตามฝันคาดรถวางขายปีหน้า
เข้าสู่ปีที่ 4 ของการพัฒนารถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่เน้นตอบโจทย์ผู้บริโภค ทั้งรูปลักษณ์ความสวยงาม สมรรถนะ โดย ปตท. เข้ามาสนับสนุนเงินทุนบางส่วนให้กับสตาร์ทอัพไทยรุ่นใหม่ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ช่วยพัฒนาระบบไฟฟ้าของรถให้ได้มาตรฐาน ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการยื่นแบบให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณา เพื่อนำออกจำหน่ายในท้องตลาดต่อไป
สตาร์ทอัพทุกคนมีศักยภาพ แต่ขาดเงินทุนที่จะช่วยให้การพัฒนาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อยากให้รัฐสนับสนุนเงินทุนค้นคว้าวิจัยกับคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
ภาคิไนย คาดว่ารถจักรยานยนต์ของทางบริษัทฯ จะออกวางขายในท้องตลาดเร็วที่สุดช่วงปลายปี 2562 ซึ่งต้องการทำให้ถูกต้องและได้มาตรฐานก่อนถึงมือผู้บริโภค แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจหลักการของการทำงานแล้ว เนื่องจากผู้ที่เข้ามาสอบถามส่วนใหญ่ จะสนใจในเรื่องของราคา ประสิทธิภาพ ระยะเวลาในการชาร์จไฟต่อการวิ่ง 1 ครั้ง และจุดชาร์จไฟ พร้อมฝากถึงภาครัฐสนับสนุนการวางโครงสร้าง ผลักดันให้คนไทยเห็นความสำคัญของพลังงานสะอาด และหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า
ผมเชื่อว่าอนาคตรถไฟฟ้ามาแน่นอน อาจไม่ได้มาแทนที่รถที่ใช้น้ำมัน แต่จะอยู่ร่วมกับรถที่ใช้น้ำมัน
สำหรับรถจักรยานยนต์ "อีทรานคราฟ" ออกแบบให้แตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นที่เน้นรูปแบบสกูตเตอร์ โดยเน้นสมรรถนะการขับขี่ที่คล่องตัว เร่งเครื่องได้ทันใจ ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ และเหมาะสำหรับการขับขี่ในเมือง โดยได้รับมาตรฐาน IP67 กันน้ำ กันฝุ่น ใช้เวลาชาร์จไฟบ้าน 4 ชั่วโมง หรือชาร์จตู้ ปตท. ใช้เวลส 2.30 ชั่วโมง ระยะวิ่ง 180 กิโลเมตร และทำความเร็วได้สูงสุด 132 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง