ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

3 องค์กรจับมือภาคีเครือข่ายจัดทำ "โพลต้านโกง" รับเลือกตั้ง

การเมือง
14 ธ.ค. 61
08:03
304
Logo Thai PBS
3 องค์กรจับมือภาคีเครือข่ายจัดทำ "โพลต้านโกง" รับเลือกตั้ง
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ มูลนิธิเพื่อคนไทย ม.หอการค้าไทย และภาคีเครือข่ายจัดทำ "โพลต้านโกง" เพื่อให้พรรคการเมืองนำข้อเสนอของประชาชนจากผลโพลไปพัฒนาเป็นนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน ประกาศพันธสัญญารับเลือกตั้ง 2562

วันนี้ (14 ธ.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มูลนิธิเพื่อคนไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดทำ "โพลต้านโกง" หรือ "โครงการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมืองและนักการเมืองไทยในการเลือกตั้ง 2562" ขึ้น เพื่อให้พรรคการเมืองนำข้อเสนอของประชาชนจากผลโพลไปพัฒนาเป็นนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน ประกาศพันธสัญญารับเลือกตั้ง 2562 โดยเตรียมจะแถลงผลในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ และเดินหน้าหาแนวร่วมภาคประชาชนติดตาม ตรวจสอบ คำสัญญานักการเมืองอย่างต่อเนื่อง

 

นายประมนต์ สุธีวงศ์

นายประมนต์ สุธีวงศ์

นายประมนต์ สุธีวงศ์

 

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ไม่อาจปฏิเสธว่านโยบายของพรรคการเมืองทุกพรรค มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน แต่ละพรรคจะมีนโยบายที่แตกต่างกันตามการกำหนดกลยุทธ์ของแต่ละพรรค แม้จะเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจ เรื่องการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน หรืออย่างปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหารัฐสวัสดิการต่างๆ ทุกปัญหามีจุดร่วมเหมือนกัน คือมาจากการทุจริตคอร์รัปชันที่ไปลดทอนและทำให้เกิดอุปสรรคในการพัฒนาสังคม ดังนั้น ในการเลือกตั้ง 2562 น่าจะเป็นเรื่องสำคัญและถึงเวลาที่พรรคการเมืองไทยที่ควรจะมีนโยบายด้านการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง และเป็นโอกาสของพรรคการเมืองด้วยที่จะใช้จังหวะนี้ประกาศเป็นนโยบายหาเสียงช่วงเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน ยังเป็นโอกาสสำคัญของประชาชนที่จะสามารถสะท้อนเสียงตัวเองออกไปในฐานะที่เป็นเจ้าของประเทศว่ามีความต้องการให้พรรคการเมืองและนักการเมืองไทยดำเนินการในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไร ผ่านโพลที่ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยดำเนินการ โดยพร้อมจะแถลงผลโพลในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ เพื่อให้ทันกับที่พรรคการเมืองต่างๆ จะนำไปพัฒนาเป็นนโยบายในการหาเสียง แต่สำคัญกว่านั้น คือจะต้องทำจริงตามสัญญาด้วย หลังพ้นช่วงเลือกตั้ง

 

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์

 

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำการสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI) มา 8 ปี แม้โดยภาพรวมจะดีขึ้นคือจากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 35 ในปี 2553 สูงขึ้นเป็นร้อยละ 55 ในปีนี้ แต่ยังมีปัญหาอีกมากที่รอการแก้ไข และจากผลสำรวจล่าสุดของปีนี้ พบว่าประชาชนร้อยละ 99 ไม่ทนต่อการคอร์รัปชัน กับร้อยละ 86 บอกว่าพร้อมจะมีส่วนร่วมในการป้องกันต่อต้านการทุจริต โพลต้านโกงนี้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะไปเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เป็นเจ้าของประเด็นต่อต้านคอร์รัปชันตั้งแต่แรก และหากพรรคการเมืองรับข้อเสนอของผลโพลไปเป็นนโยบาย ย่อมเท่ากับว่าสังคมไทยเกิดนโยบายการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในระบบมาจากการฟังเสียงประชาชน

สำหรับ "โพลต้านโกง" มีประชากรเป้าหมายเป็นประชาชนทั่วไป ขนาดตัวอย่างไม่น้อยกว่า 3,000 ตัวอย่าง โดยมีสัดส่วนกลุ่มที่จะได้มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรกกับกลุ่มที่เคยเลือกตั้งมาแล้วคิดเป็นสัดส่วน 1: 6 กระจายจำนวนตัวอย่างทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ เกี่ยวกับความคาดหวังต่อการขับเคลื่อนงานต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมืองและนักการเมือง ในด้าน (1) การขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศ (2) การขับเคลื่อนการทำงานของพรรคการเมือง และ (3) การปฏิบัติตนของนักการเมือง ระยะเวลาโครงการ 30 วัน ตั้งแต่ 16 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 15 ธันวาคม

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจในช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.แจกการบ้านนักการเมืองต้านโกง.com ตั้งแต่วันที่ 1-14 ธันวาคม คาดว่าจะได้จำนวนประชากรเป้าหมายอย่างน้อย 5,000 คน และจะมีการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารเพื่อให้เกิดการกระจายโพลออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางออนไลน์ของภาคีเครือข่ายต่างๆ ซึ่งบริหารจัดการโดยมูลนิธิเพื่อคนไทย ในภาพรวมคาดว่าโพลต้านโกงจะสามารถรวมเสียงของประชาชนได้ไม่น้อยกว่า 8,000 ตัวอย่าง ถือเป็นจำนวนที่มีความน่าเชื่อถือในทางสถิติ

 

นายวิเชียร พงศธร

นายวิเชียร พงศธร

นายวิเชียร พงศธร

 

นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวว่า ด้วยกระบวนการของโพลต้านโกงมีหลายขั้นตอน และเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย การจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายองค์กร เริ่มจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ผู้มีพันธกิจหลักในการสร้างเสริมพลังประชาชนร่วมต้านโกง และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องมือสำรวจวิจัย ขณะที่มูลนิธิเพื่อคนไทยจะมุ่งเน้นเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายให้เข้ามาช่วยกันขยายผลโพล เพื่อให้กระบวนการต่างๆ สมบูรณ์ขึ้น เพราะต้องอาศัยภาคีเครือข่ายจำนวนมากช่วยกันกระจายเสียงของประชาชนที่โพลรวบรวมไว้สู่สาธารณะแล้วให้พรรคการเมืองนำไปเป็นนโยบาย

ดังนั้น กระบวนการทำงานนำไปสู่ผลลัพธ์ ไม่ได้จบแค่ "ผลโพล" ยังมีเรื่องการติดตามพันธสัญญานักการเมืองอย่างต่อเนื่อง หลังเลือกตั้งด้วย จึงเป็นที่มาของการประชุมภาคีเครือข่ายในวันนี้ ประกอบด้วยเครือข่ายสื่อมวลชน เครือข่ายวิชาการ เครือข่ายคนรุ่นใหม่ และเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมขยายผลใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) ช่วยแชร์โพลออนไลน์ให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุดในช่วงวันที่ 1-14 ธ.ค. (2) ร่วมกระจาย "ผลโพล" หรือข้อเสนอของประชาชนในวงกว้างในรูปแบบต่างๆ อาจจะเป็นเวทีสาธารณะ หรือกิจกรรมอื่นใด ให้เกิดพันธะสัญญาสู้โกงของพรรคการเมือง ในช่วงมกราคมและกุมภาพันธ์ ก่อนการเลือกตั้ง 2562 (3) ร่วมติดตามตรวจสอบ "คำสัญญานักการเมือง" อย่างต่อเนื่องหลังเลือกตั้ง

อนึ่ง ภาคีเครือข่ายที่ตอบรับให้ความร่วมมือแล้วเรืองการกระจายโพลออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นภาคีกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้แก่ สถาบันเช้นจ์ฟิวชันฯ เครือข่ายทีวายพีเอ็น เลิร์นเอ็ดดูเคชั่น อา-ชีฟ แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม ทูลมอโร วายน็อต โอเพ่นดรีม สยามอาสา เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีภาคีวิชาการและสื่อมวลชน ตลอดจนผู้นำจากภาคส่วนต่างๆ ที่จะช่วยขยายผลในช่องทางโซเชียลมีเดียส่วนบุคคลอีกจำนวนมาก เช่น นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ นายมานะ นิมิตรมงคล เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง