วันนี้ (24 ธ.ค.2561) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย ที่ จ.บันเติน ประเทศอินโดนีเซีย หลังเหตุการณ์คลื่นสึนามิถล่มช่องแคบซุนดาระหว่างเกาะสุมาตราและเกาะชวา ทางภาคตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 281 คน บาดเจ็บ 1,016 คน และยังมีผู้สูญหายอีก 57 คน
ตลอดสองข้างทางร้านค้ายังคงปิดให้บริการ และจากการสอบถามผู้ประสบภัยในพื้นที่พบว่าหลายคนเลือกที่จะไปอาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว เพราะยังหวาดกลัวว่าจะเกิดสึนามิขึ้นอีกครั้ง ขณะที่บางคนก็ยังยืนยันที่จะยังอยู่ในพื้นที่
ซูริโย เจ้าของรีสอร์ตริมชายหาดอันเยอร์ กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุนอนหลับอยู่ในห้องพักชั้น 2 พอได้ยินเสียงคนตะโกนว่ามีคลื่นยักษ์ ตนกับแขกที่เข้าพักรีบวิ่งหนีไปที่ยังรีสอร์ตอีกแห่งที่อยู่ตรงข้ามถนนทันที และนี้เป็นครั้งแรกที่ต้องเผชิญกับเหตุสึนามิ หลังเปิดกิจการรีสอร์ตขนาด 50 ห้องพักมา 24 ปี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางการท้องถิ่นจะเตือนให้อยู่ห่างจากชายฝั่ง เพราะอาจเกิดสึนามิขึ้นอีกได้ แต่ก็ไม่กลัว ยืนยันว่าจะดูแลกิจการอยู่ที่นี่ และจะลงมือซ่อมแซมส่วนที่เสียหายในสัปดาห์หน้า
ซูริโย กล่าวอีกว่า ลูกค้าที่จองห้องพักประมาณ 90% เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ ได้ยกเลิกห้องพักไปทั้งหมด แม้ว่าจะจ่ายค่ามัดจำ 40% แล้วก็ตาม
เช่นเดียวกับ ตีติน หนึ่งในผู้ประสบภัยใน จ.บันเติน กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุรีบวิ่งหนีไปยังที่สูง หลังได้ยินเสียงตะโกนว่าคลื่นยักษ์มาแล้วจากเพื่อนบ้าน จนถึงตอนนี้ก็ยังคงกลัวอยู่ เลยตัดสินใจไปอาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว ที่อยู่ห่างไปอีก 1 กิโลเมตร
ขณะที่ มีรายงานว่า ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย แสดงความเสียใจต่อเหตุที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบระบบเตือนภัยคลื่นสึนามิทั่วประเทศและซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ชำรุดอย่างเร่งด่วน
ทุ่นเตือนภัยสึนามิใช้การไม่ได้
เจ้าหน้าที่หน่วยงานป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ระบบทุ่นเตือนภัยสึนามิซึ่งติดตั้งอยู่นอกชายฝั่งอินโดนีเซีย ไม่สามารถใช้การได้มาตั้งแต่ปี 2555 เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ เกิดความขัดข้องทางเทคนิคและถูกทำลาย ส่งผลให้ขณะที่เกิดสึนามิเมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมาไม่มีการเตือนภัยแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่ ระบุว่า ระบบเตือนภัยสึนามิต้องได้รับการพัฒนาอีกครั้ง เพื่อให้อินโดนีเซียเตรียมการรับมือกับสึนามิได้ล่วงหน้า รวมถึงสึนามิที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟ และเหตุดินถล่มซึ่งเกิดขึ้นใต้น้ำด้วย ซึ่งปัจจุบันระบบที่ใช้งานอยู่สามารถเตือนภัยสึนามิได้เฉพาะที่เกิดจากเหตุแผ่นดินไหวเท่านั้น และการขาดแคลนระบบที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้ทำให้ไม่มีการเตือนภัยสึนามิจนเกิดโศกนาฏกรรมร้ายแรงขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อินโดฯ หวั่นสึนามิถล่มซ้ำ หลังภูเขาไฟยังปะทุ
วินาที ! คลื่นซัดกลางคอนเสิร์ต "เซเว่นทีน" ยอดคนตายพุ่ง 222 ชีวิต