ผู้สื่อขาวรายงานว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2561 องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency: ESA) เผยภาพถ่ายความละเอียดสูงของหลุมอุกกาบาตน้ำแข็งยักษ์โคโรลอฟ (Korolev Crater) บริเวณขั้วเหนือของดาวอังคาร เป็นดินแดนน้ำแข็งบนดาวอังคาร สุดตระการ! ซึ่งบันทึกโดยยานอวกาศมาร์สเอ็กซ์เพรส
หลุมดังกล่าวมีขนาดกว้างถึง 81.4 กิโลเมตร ขณะที่พืดน้ำแข็งยักษ์ภายในมีขนาดใหญ่กว่า 60 กิโลเมตร และหนามากถึง 1.8 กิโลเมตร
นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า พืดน้ำแข็งยักษ์เกิดจากปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า เขตกักความเย็น (Cold Trap) เนื่องจากหลุมอุกกาบาตแห่งนี้ลึกกว่า 2 กิโลเมตร เมื่อกระแสอากาศไหลผ่านขอบหลุมจะยกตัวขึ้นพร้อมเย็นตัวลงและจมสู่ก้นหลุมกลายเป็นชั้นอากาศเย็นลอยอยู่เหนือก้นหลุม ช่วยรักษาความเย็นภายในและคอยป้องกันความร้อนจากภายนอก อีกทั้งหลุมแห่งนี้อยู่บริเวณขั้วดาว ซึ่งได้รับแสงดวงอาทิตย์น้อยกว่าบริเวณเส้นศูนย์สูตร จึงสามารถเกิดพืดน้ำแข็งภายในหลุมอุกกาบาตดังกล่าวได้ตลอดทั้งปี
ปรากฏการณ์เขตกักความเย็นยังพบได้ในบริเวณหลุมอุกกาบาตขนาดเล็กอื่น เช่น หลุมอุกกาบาตลูทธ์ (Louth Crater) ที่อยู่บริเวณขั้วเหนือของดาวอังคารอีกด้วย
ภาพถ่ายหลุมโคโรลอฟจากกล้อง HRSC (High Resolution Stereo Camera) ที่ติดตั้งบนยานมาร์สเอ็กซ์เพรสขององค์การอวกาศยุโรป ซึ่งบันทึกภาพอย่างต่อเนื่องขณะโคจรอยู่เหนือหลุมดังกล่าว จากนั้นจึงนำมารวมเป็นภาพเดียว ทำให้ได้ภาพที่ละเอียดและเป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาลักษณะทางภูมิศาสตร์โดยรอบ
หลุมอุกกาบาตโคโรลอฟ ถูกตั้งชื่อตามเซียร์เกย์ โคโรลอฟ (Sergei Korolev) หัวหน้าทีมวิศวกรด้านเครื่องยนต์จรวด และนักออกแบบยานอวกาศ มีส่วนสำคัญในการควบคุมภารกิจต่างๆ ในโครงการอวกาศโซเวียต เช่น โครงการสปุตนิก ซึ่งเป็นโครงการส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก และโครงการยานอวกาศวอสตอค ภารกิจส่ง ยูริ กาการิน มนุษย์ที่ขึ้นสู่อวกาศเป็นคนแรกของโลกอีกด้วย
ในวันที่ 25 ธ.ค.2561 ที่ผ่านมาเป็นครบรอบ 15 ปีที่ยานมาร์สเอ็กเพรสเข้าสู่วงโคจรของดาวเคราะห์แดง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ปฏิบัติภารกิจเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์จำนวนมากแก่นักวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ศึกษาสภาพแวดล้อมของดาวอังคารและวางแผนภารกิจการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปสำรวจในอนาคต