วันนี้ (6 ม.ค.2562) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึกว่า ระยะสั้น ได้ประสานห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ลดราคาสินค้า อุปกรณ์ ทำความสะอาดบ้านเรือน ขณะนี้หลายรายตอบรับช่วยเหลือ และเพิ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าไปในพื้นที่ให้เพียงพอต่อความต้องการ
ส่วนบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากพายุ โดยเฉพาะหลังคาบ้าน ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการสินค้าวัสดุก่อสร้างให้ช่วยลดราคาพิเศษอย่างน้อยร้อยละ 30 ให้กับผู้ประสบภัยที่ต้องซ่อมแซมบ้านเรือนที่อยู่อาศัย โดยผู้ประสบภัยที่ต้องการซื้อในราคาพิเศษ ต้องมีหนังสือรับรองจากพาณิชย์จังหวัดว่าเป็นผู้ได้ผลกระทบตัวจริง เพื่อป้องกันการสวมรอยของคนในพื้นที่อื่นๆ
ทั้งนี้ วันพรุ่งนี้จะส่งรถเคลื่อนที่เฉพาะกิจเข้าไปจำหน่ายสินค้าให้กับประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และกระทรวงพาณิชย์ จะลงพื้นที่ช่วยเหลือเเละรับฟังความเดือดร้อนผู้ประสบภัยอีกครั้ง วันที่ 8 มกราคมนี้
ด้านนายสุรจิตต์ อินทรชิต รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการและบัญชาการสถานการณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำรวจเบื้องต้นมีเกษตรกรได้รับความเสียหายรวม 160,585 ราย พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบกว่า 110,000 ไร่ โดย จ.สงขลา ต้นข้าวล้มและน้ำท่วมขังพื้นที่ปลูกปาล์ม ปลาในกระชังถูกคลื่นซัดเสียหาย ขณะที่ จ.นครศรีธรรมราช ไม้ผล ไม้ยืนต้นล้มเป็นจำนวนมาก สัตว์ปีกสูญหายมากกว่า 10,000 ตัว
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง จะช่วยเหลือรายละไม่เกิน 30 ไร่ ตามชนิดพืช และด้านประมง ช่วยเหลือรายละไม่เกิน 5 ไร่ ตามประเภทสัตว์น้ำ ด้านปศุสัตว์โค-กระบือ ตัวละ 6,000-22,000 บาท ไม่เกิน 2 ตัว ชาวสวนยางที่เป็นสมาชิก กยท.ให้ทุนปลูกแทน ไร่ละ16,000 บาท ส่วนการช่วยเหลือเรือประมง ขึ้นกับความยาวของเรือ ตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท
ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมออกมาตรการแพคเกจช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคใต้ โดยประเมินความเสียหายเบื้องต้น 200 ล้านบาท มีโรงงานได้รับผลกระทบเกือบ 2,000 แห่ง แต่คาดว่าตัวเลขความเสียหายน่าจะสูงขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีกว่าร้อยละ 95 โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) พักชำระหนี้ให้ลูกค้า 3,200 ล้านบาท และมีวงเงินเพิ่มให้อีกรายละ 1-5 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.45 ต่อเดือน
ขณะที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีวงเงินฉุกเฉิน 50,000-200,000 บาทต่อราย คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้กับโรงงานที่ได้รับความเสียหาย