ผลกระทบของพายุปาบึกทิ้งซากความเสียหายไว้พอสมควรแต่ภาพที่น่าจะสะท้อนถึงความรู้สึกของนักท่องเที่ยวได้ดี คือการที่นักท่องเที่ยวหลายชาติ ช่วยกันเก็บเศษซากเเละขยะต่างๆ ที่ค้างอยู่บนชายหาดเพื่อทำให้ชายหาดกลับมาสะอาดเเละน่าเที่ยวอีกครั้ง
ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ระบุตรงกันว่า ไม่ได้รับผลกระทบทางตรงมากนักแต่ยอมรับว่าการงดให้บริการทางทะเลในช่วงที่เป็นไฮซีซั่นส่งผลให้ลดได้หายไปไม่น้อยในช่วงที่เกิดเหตุเเต่ผู้ประกอบการ เชื่อว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาไทยในระยะต่อไป
ส่วนหนึ่งที่ผู้ประกอบการมองว่าช่วยทำให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจได้คือ การเเจ้งเตือนเเละเตรียมแผนรับมือกันล่วงหน้า ขณะที่เอกชนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยมีการนำนักท่องเที่ยวขึ้นฝั่ง 4,000 - 5,000 คน
ช่วงนี้ถือว่าเป็นไฮซีซั่นของเขตอันดามัน กระบี่ ภูเก็ต พังงา ระนอง ซึ่งมีนักท่องเที่ยวมากที่สุด โดยแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวท่องเที่ยวทางทะเลจำนวนมาก หากคิดเป็นค่าใช้จ่ายจะเฉลี่ยคนละ 500-1,000 บาท หรือ วันละหลายล้านบาท
นายวรสิทธิ์ ผ่องคำพันธุ์ นายกสมาคมท่องเที่ยวเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ระบุว่า ผู้ประกอบการโรงเเรมไม่ได้รับผลกระทบ และลูกค้าก็ไม่มีปัญหาในระหว่างเกิดพายุ แต่ยอมรับว่า การงดให้บริการท่องเที่ยวในทะเลส่งผลให้รายได้หายไปนับสิบล้านบาทต่อวัน ซึ่งวันที่ 4 ม.ค.ได้รายได้หายไปมาก หรือ ประมาณ 30 ล้านบาท
ส่วนสถานการณ์ขณะนี้ไม่น่ากังวลและได้เตรียมแผนการตลาดนับจากนี้แล้ว เช่น การสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้กับพื้นที่ การไปต้อนรับนักท่องเที่ยวที่สนามบิน การร่วมมือกับชุมชนในแต่ละหาด ออกพบปะพูดคุยกับนักท่องเที่ยว เป็นต้น
นายนิธิ สีแพร ผู้อำนวยการภูมิภาค ภาคใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ปกติช่วงเวลานี้เป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามัน เหตุการณ์ครั้งนี้ส่วนใหญ่กระทบการท่องเที่ยวในโซนอ่าวไทยจึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความเสียหายต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภาคใต้มากนัก ขณะเดียวกันภัยธรรมชาติครั้งนี้จะไม่สร้างความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยวมากนัก
ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่สร้างรายได้จากภาคท่องเที่ยวสูงมากโดยปี 2561 ที่ผ่านมารายได้จากการท่องเที่ยวของภาคใต้มีมูลค่าประมาณ 800,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 13-14 ตอนนี้ยังไม่มีรายงานว่ามีนักท่องเที่ยวขอยกเลิกเดินทาง