ผศ.เมตตา กูนิง ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.) รวบรวมสถิติ พบว่า ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 2547 ถึงเดือนกันยายน 2558 ทำให้เกิดลูกกำพร้า (ในทุกกลุ่มอายุ) จากพ่อแม่เสียชีวิตในเหตุความไม่สงบ 9,806 คน เด็กกำพร้ากลุ่มนี้จะกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย แต่หนาแน่นมากที่สุดใน 3 จังหวัด คือ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ซึ่งมีทั้งในเด็กในครอบครัวชาวพุทธและมุสลิม
หากเด็กกำพร้าได้การรับรองจาก 3 ฝ่าย คือ ทหาร ตำรวจ และปกครอง ยืนยันว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ภาครัฐก็จะให้การเยียวยา โดยกำหนดหลักเกณฑ์และรูปแบบการช่วยเหลือเอาไว้ ทั้งด้านจิตใจและการสนับสนุนอื่น ๆ เช่น เงินยังชีพ เป็นต้น
จากการศึกษาข้อมูลเด็กกำพร้ากลุ่มตัวอย่าง พบว่า แม้จะได้รับการเยียวยาแล้ว เด็กกลุ่มนี้ยังประสบปัญหาในด้านอื่น เช่น ต้องออกจากโรงเรียน ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานก่อนวัยอันควร และในกลุ่มเด็กผู้ชายก็มีความเสี่ยงในการเข้าสู่วงจรยาเสพติด หากพ่อหรือแม่แต่งงาานใหม่ เด็กกำพร้าก็จะไม่ได้รับการดูแล หรือนำไปฝากให้ญาติดูแล ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาทางด้านจิตใจ และคุณภาพชีวิต
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีเด็กกำพร้าอีกกลุ่มหนึ่ง ประมาณ 1,000 คน ที่ไม่ได้การรับรองจาก 3 ฝ่าย เพราะอาจเป็นเด็กกำพร้าที่มาจากครอบครัวฝ่ายตรงข้ามรัฐ และไม่มีข้อมูลในระบบการเยียวยา จึงไม่ได้รับการช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตาม ภาคประชาสังคมได้ตั้งองค์กรต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้ได้รับผลกระทบในส่วนที่ตกหล่น และพยายามสร้างกลไกปกป้องเด็กไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง มีการรณรงค์ให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กในชุมชุมต่าง ๆ ป้องกันความรุนแรงต่อเด็ก รวมถึงการสร้างระบบกลไกชุมชนคุ้มครองเด็ก
ภายใต้หลักอนุสัญญาว่าด้วยเด็ก (Convention on the Rights of theChild) เพื่อให้เด็กมีสิทธิในการมีชีวิตรอดปลอดภัยจากภัยอันตรายโดยย้ำว่า "เด็กคือผู้บริสุทธิ์" หรือ "เด็กไม่ใช่คู่ขัดแย้ง" ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตามเด็กควรมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยและไม่ตกเป็นเป้าหมายในการโจมตี