รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เปิดข้อแนะนำครอบครัว โรงเรียน และสังคม ปรับทัศนคติดูแลเด็กไม่ให้เข้าสู่ภาวะความเครียดและซึมเศร้า
เด็กและวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายสำเร็จทั่วประเทศ วันละ 2 คนต่อวัน ในสัดส่วนที่กำลังเพิ่มขึ้น บวกกับเด็กมีสุขภาวะทางจิตที่อ่อนไหวมากขึ้น
คำยืนยันของ นพ.สุริยเดว สะท้อนถึงปัญหาเด็กในสังคมไทย ซึ่งพบว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 เกิดจากตัวเด็กเอง เด็กเลี้ยงยาก เด็กมีอารมณ์อ่อนไหวง่าย คำว่าเลี้ยงยาก หมายถึงเด็กที่มีสภาวะทางจิตที่อ่อนไหว เช่น มีโรคทางกายเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สมาธิสั้น และมีสมรรถนะทางการเรียน เช่น โรคแอลดี ที่เป็นจุดอ่อนอยู่แล้ว
แต่อีก ร้อยละ 75 มาจากสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก เช่น ครอบครัว สังคม โรงเรียน นอกจากนี้ยังมี "สื่อ" ถ้าเด็กที่อ่อนไหวมีสุขภาวะทางจิตไม่สามารถครองสภาวะทางจิตของตัวเอง บวกกับสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น ครอบครัวใช้ความรุนแรง ในรั้วโรงเรียนมีการกระทำความรุนแรงต่อกันระหว่างเด็กต่อเด็ก เดิมแค่การพูดทางวาจา และทำร้ายชกต่อย ใช้อาวุธ แต่ปัจจุบันใช่กระแสโซเซียลมาเกี่ยวข้อง
ขณะที่ระบบการป้องกันลดลง โดยเฉพาะทุกวันนี้ครอบครัวเล็กลง ปากกัดตีนถีบ แต่ลืมการเยียวยาจิตใจ แต่ละวันที่เราเจอปัญหาอุปสรรค เด็กทุกคนอยากได้กำลังใจ อยากได้วิธีจัดการความเครียด” แต่วิธีการจัดการ ไม่ใช่แต่การอบรมสั่งสอนแต่ต้องมาจากการรับฟังซึ่งกันและกัน
ถ้าผู้ใหญ่ลองเปิดวิธีการตั้งคำถามใหม่ ที่สามารถเยียวยาจิตใจลูก เช่น วันนี้ลูกเรียนมาทั้งวันรู้สึกอย่างไร เจอปัญหาอะไรบ้าง เช่น วันนี้มีอะไรดีๆมาเล่าให้ฟังบ้าง วันนี้มีอะไรให้แม่ช่วยได้บ้าง แทนที่จะถามว่า วันนี้ทำการบ้านหรือยัง
จุดชาร์จแบตเตอรี่ชีวิตของเด็กก็คือ ครอบครัว โรงเรียน ซึ่งทุกวันนี้มันแคบลงทำให้สัมพันธภาพและพื้นที่ของเด็กหายไปไม่มีจุดเชื่อมต่อ ที่เด็กจะสามารถระบายความในใจ
แนะ 5 เคล็ดลับสร้างสุขในครอบครัว
นพ.สุริยเดว กล่าวว่า หัวใจสำคัญที่ครอบครัวต้องมีเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเรียนรู้ความรุนแรง 1.ความรักความอบอุ่นและไว้วางใจ หากบ้านไหนไม่มีความสุข มีปัญหาแน่เพราะสัมพันธภาพเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ได้เกิดจากการไปเที่ยว แต่เกิดจากการรับฟัง และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก ความรักก็ไม่ต้องมากไป แต่ต้องไม่ขาดความรัก เป็นรักที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน
2. สื่อสารที่ดีต่อกัน การที่สมาชิกทุกคนในบ้านมีการสื่อสารกัน ผู้ใหญ่ก็จะได้หัวใจเด็ก ต้องเป็นผู้ฟังไม่ใช่ผู้พูด ฟังความรู้สึก เด็กคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร และจะหาทางแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไร และจึงค่อยๆ เหลาความคิดเขา
3. บ้านต้องมีวินัย พ่อแม่ก็ต้องมีวินัย ไม่ใช่เฉพาะเด็กเท่านั้น
4. การควบคุมอารมณ์ตนเอง หากยังไม่สามารถจัดการอารมณ์ได้ ก็ควบคุมใครไม่ได้มันเป็นกระจกเงาสะท้อนไปให้เด็ก
และ 5. ผู้ใหญ่ทุกคนต้องยอมรับความสามารถของเด็กที่หลากหลาย เด็กไม่ใช้ผ้าขาวอย่าเข้าใจผิดแต่เด็กเป็นผ้าสีพื้น อย่าเลี้ยงลูกแบบเปรียบเทียบเพราะถ้าหากเลี้ยงแบบนั้นบาดเจ็บแน่นอน