วันนี้ (17 ม.ค.2562) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานในสังกัด เพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วน เพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง ว่า จากสถานการณ์ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกินมาตรฐาน กระทรวงคมนาคมได้ประชุมร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสั่งเพิ่มเติมมาตรการเพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้
1. ให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ดำเนินการจัดทีมตรวจสภาพรถทั้งหมด 16 ชุด เพื่อตรวจรถโดยสารควันดำในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เข้าตรวจสอบรถโดยสาร ขสมก. ให้แล้วเสร็จภายใน 2 วัน โดยต้องไม่มีรถโดยสาร ขสมก. ที่มีควันดำวิ่งเด็ดขาด และขอความร่วมมือภาคเอกชนผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะทั่วประเทศดำเนินการนำรถเข้าตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์ก่อนรอบอายุกำหนด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาควันดำในทันที
2. ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ดำเนินการปรับเครื่องยนต์เพื่อใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 เพื่อลดมลพิษทันทีในวันที่ 15 ม.ค.2562 จำนวน 815 คัน และดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันที่ 1 ก.พ.2562 อีกจำนวน 1,260 คัน รวมการดำเนินงานปรับปรุงสภาพการใช้งานน้ำมันไบโอดีเซล B20 ทั้งสิ้นจำนวน 2,715 คัน และให้เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง กรองน้ำมันก่อนรอบปกติ เพื่อช่วยในการลดมลพิษ รวมถึงการเร่งประสานขอรับรถ NGV ในส่วนที่เหลืออีก 119 คัน เพื่อให้บริการประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
นอกจากนี้ ขสมก.จะเร่งดำเนินการจัดหารถที่ใช้พลังงานสะอาด จำนวน 2,188 คัน ประกอบไปด้วย รถโดยสาร NGV รถไฮบริด รถไฟฟ้า (EV) เพื่อแก้ปัญหาระยะต่อเนื่อง
3. สำหรับพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าใน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สีเหลือง และสีชมพู ในพื้นที่ถนนสำคัญ 5 เส้นทาง ได้แก่ ลาดพร้าว แจ้งวัฒนะ รามอินทรา รามคำแหง ศรีนครินทร์ ให้ประสานขอความร่วมมือผู้รับเหมางดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง เช่นงานถมดิน ในช่วงวันที่ 16-22 ม.ค.2562
รวมถึงเข้มงวดมาตรการในการลดฝุ่นละอองในพื้นที่ก่อสร้าง ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดรถติดในชั่วโมงเร่งด่วนและเร่งคืนพื้นที่ผิวจราจรที่ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ เพื่อลดปัญหาการจราจรในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสีน้ำเงิน
4. มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย แก้ปัญหาฝุ่นละอองบริเวณที่จราจรติดขัดหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ โดยเฉพาะด่านบางขุนเทียน โดยติดตั้งเครื่องปล่อยฝอยละอองน้ำ (High Pressure Water) และแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดที่หน้าด่านเก็บเงินทุกด่านเพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองสะสมอย่างถาวร
5. ให้กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กำชับ ติดตามการดำเนินงานของผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ให้เข้มงวดตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และรบกวนผิวทางจราจรในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเท่าที่จำเป็น เพื่อแก้ปัญหารถติด
6. ให้กรมเจ้าท่า ประสานผู้ประกอบการขนส่งทางน้ำให้มีการตรวจสอบการใช้เครื่องยนต์เรือโดยสาร
และ 7. ให้ รฟม. และบริษัท รถไฟฟ้า รฟฟท. ออกมาตรการเชิญชวนให้ประชาชนใช้บริการระบบขนส่งมวลชนโดยรถไฟฟ้า ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. เช่น พิจารณาลดอัตราค่าจอดรถในพื้นที่จอดแล้วจรของ รฟม. รวมถึงดำเนินมาตรการทางการตลาดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนหันมาใช้บริการเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ประชาชนหากพบรถโดยสารสาธารณะที่มีควันดำให้แจ้งศูนย์ปลอดภัยคมนาคม 1356 และ สายด่วน 1584 ของกรมขนส่งทางบก เพื่อเจ้าหน้าที่ ขบ. ดำเนินการตรวจสอบและระงับการออกวิ่งต่อไป