วันนี้ (23 ม.ค.2562) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า กระทรวงฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนแผนปฎิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ และจะยกระดับความรุนแรงตามสถานการณ์ของฝุ่นละออง
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ระดับที่ 1 หากค่าฝุ่นละออง อยู่ในช่วง 51-90 มคก./ลบ.ม. จะเพิ่มความเข้มข้นของการดำเนินการตามมาตรการตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานให้มากยิ่งขึ้น เช่น ตรวจจับควันดำ 20 จุด รอบพื้นที่กรุงเทพฯ จัดจุดตรวจวัดควันดำเคลื่อนที่เร็ว 5 ชุด จัดชุดตรวจการ 16 ชุดตรวจรถ ขสมก. ตรวจรถ ขสมก. เร่งคืนพื้นที่จราจร ขณะที่ในพื้นที่การก่อสร้างรถไฟฟ้าได้เพิ่มการเปิดหน่วยปฏิบัติการฉีดพ่นน้ำแรงดันสูง 8 คัน เพิ่มความถี่ในการกวาดล้างทำความสะอาดถนน ควบคุมการก่อสร้าง และงดการเผาในที่โล่ง 5 จังหวัดรอบปริมณฑล
ระดับที่ 2 หากปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก เกิน 90 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 3 วัน ครอบคลุมทั้งพื้นที่ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขเห็นชอบว่าให้ยกเป็นระดับสถานการณ์รุนแรง ซึ่งจะเป็นการควบคุมและลดจำนวนแหล่งกำเนิด เช่น ลดจำนวนยานพาหนะ ชะลอ/หยุดการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้า ปรับเปลี่ยนและแก้ไขแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทอุตสหกรรม ให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้นกว่าที่ดำเนินการอยู่ปัจจุบัน
พร้อมใช้ ม.9 ทันทีหากสถานการณ์ฝุ่นวิกฤต
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ปัจุบันสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองอยู่ในช่วงระดับ 1-2 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฎิบัติตามมาตรการเพื่อลดปริมาณฝุ่น เช่น ตรวจรถควันดำ และทำฝนเทียม แต่ค่าฝุ่นละอองยังมีปริมาณขึ้นและลง ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย และหากค่าฝุ่นละอองวิกฤตไปถึงขั้นระดับที่ 3 เกิน 90 มคก./ลบ.ม. ต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วัน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น อาจพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 28/1 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ประกาศกำหนดให้กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้หากดำเนินการทั้ง 3 ระดับแล้วฝุ่นละออง ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นไปอีก ต่อเนื่องติดต่อกันอีก 3 วัน ต้องยกเป็นระดับที่ 4 ค่าฝุ่นละอองเกิน 90 มคก./ลบ.ม. ให้เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณามาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5 เสนอให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจพิเศษตามนัยมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 สั่งการให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ กระทำหารือร่วมกันกระทำการใดๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการระงับหรือบรรเทาผลร้ายจากอันตรายและความเสียหายที่เกิดจากการแพร่กระจายของฝุ่นละออง PM 2.5
ขณะที่ในวันพรุ่งนี้ (24 ม.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมควบคุมมลพิษ เพื่อกำหนดรายละเอียดต่างๆ ว่าหาก ค่าฝุ่นละออองเกินกว่า 100 มคก./ลบ.ม. ต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน อาจต้องมีการพิจารณาเพื่อใช้มาตรการอื่น เข้ามาควบคุมพื้นที่ด้วยอำนาจกฎหมายที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่
กระทรวงฯ วางแผนไปถึงขั้นที่ 4 แล้ว และหากค่าฝุ่นละออง เกิน 70 -100 มคก./ลบ.ม.อาจจะต้องยกระดับการทำงาน แต่ระหว่างนี้ ผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าฯ 5 จังหวัดปริมณฑล สามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข ในการเข้าไปควบคุมพื้นที่ อาจจะสั่งให้หยุดกิจกรรมต่างๆ ได้ จนกว่าสถานการณ์ฝุ่นจะคลี่คลาย
ขณะที่ในสัปดาห์หน้ากระทรวงพลังและภาคเอกชน เตรียมจำหน่ายน้ำมัน B20 ในราคาลดพิเศษ นำร่องรถบรรทุก และรถขนส่ง
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า กรณีโรงเรียนหลายแห่งปิดการเรียนการสอนจากสถานการณ์ฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ ทส.ติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนไม่ได้มีอำนาจในการสั่งให้โรงเรียนหยุดการเรียน แต่ให้โรงเรียนพิจารณาตามความเหมาะสม
หากไม่กระทบกับการเรียน ก็ให้ทางโรงเรียนพิจารณา ถ้าจำเป็นต้องหยุด อย่าเอาสุขภาพไปเสี่ยง
28-29 ม.ค. ลมหนาวระลอกใหม่ส่อฝุ่นเพิ่ม
ขณะที่ตัวแทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ช่วงวันที่ วันที่ 26-27 ม.ค.จะมีมวลอากาศเย็น ค่อนข้างแรงลงมาอีกระลอก ลมแรง ดังนั้นในช่วง 28-29 ม.ค.สภาพอากาศปิด ลมอ่อนลง ส่งผลให้ช่วงนั้นค่าฝุ่นละอองอาจเกิดขึ้นได้อีก
อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมมลพิษยังต้องเฝ้าระวังวิเคราะห์ข้อมูลจากกรมอุตุฯและแจ้งเตือนประชาชน โดยร่วมมือกับ กทม.และ 5 จังหวัดปริมณฑล คงมาตรที่จะแก้ปัญหา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คพ.ชงบอร์ดมลพิษประกาศภัยพิบัติทางอากาศ-ปรับค่าฝุ่น PM2.5