กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างเชิญชวนประชาชนให้แสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยประชาชนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทางเว็บไซต์ www.dld.go.th ซึ่งความคิดเห็นทั้งหมดจะบันทึกสำหรับอ้างอิงในการจัดทำรายงานสรุปผลการรับฟัง ก่อนนำเสนอให้ สนช.พิจารณา โดยจะต้องมีการพิจารณา 3 วาระ ก่อนประกาศเป็นกฎหมายต่อไป
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กรมปศุสัตว์เสนอขอให้พิจารณาร่วมกับร่าง พ.ร.บ.ชื่อเดียวกันที่สมาชิก สนช.เสนอ และกำลังรอการพิจารณาร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ ปัญหาสัตว์จรจัด และเพิ่มความรับผิดชอบของเจ้าของสัตว์ เบื้องต้น คณะรัฐมนตรีได้ผ่านความเห็นชอบ แต่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำกลับมาพิจารณาแก้ไข ไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนมากเกินสมควร
น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า สาระสำคัญคือ เมื่อประกาศใช้แล้ว ยังไม่มีผลบังคับให้เจ้าสัตว์เลี้ยงต้องนำสัตว์ไปขึ้นทะเบียน เพียงแต่ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นบังคับให้เจ้าของสัตว์มาขึ้นทะเบียน โดยให้งดเก็บค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ในระยะเวลา 3 ปีแรก จากนั้นจะเก็บหรือไม่เก็บค่าธรรมเนียมต่อก็ได้
แต่หากเรียกเก็บจะต้องเก็บไม่เกินตัวละ 170 บาท สำหรับเงินค่าธรรมเนียมและเงินค่าปรับจะตกเป็นเงินรายได้ของท้องถิ่น เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ การทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ ได้แก่ ค่าไมโครชิป หรือคิวอาร์โค้ด ตลอดจนเป็นค่าฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้ท้องถิ่นจะนำไปใช้สร้างศูนย์พักพิงสัตว์จรจัด ค่าอาหารสัตว์จรจัด ค่าผ่าตัดทำหมันและค่าวัคซีน
สำหรับสัตว์ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์สัตว์ รวมทั้งในวัดและบ้าน ที่เก็บสัตว์จรจัดมาเลี้ยงไม่ต้องขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง แต่ต้องมาแจ้งขอเป็นสถานสงเคราะห์สัตว์ตามกฎหมาย และกรมปศุสัตว์จะบริการฉีดวัคซีน ผ่าตัดทำหมัน และดูแลสุขภาพสัตว์ให้ด้วย
จากผลการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2550 ประเทศไทยมีสุนัขจรจัด ประมาณ 350,000 ตัว, ปี พ.ศ.2560 ประเทศไทยมีสุนัขจรจัด ประมาณ 820,000 ตัว คาดว่าในปี พ.ศ.2570 ประเทศไทยจะมีสุนัขและแมวจรจัด ประมาณ 1,920,000 ตัว และในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมากถึง 5 ล้านตัว ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ทั้งด้านสุขอนามัย โรคระบาดและเป็นภาระเงินงบประมาณของรัฐบาล