วันนี้ (31 ม.ค.62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรในพื้นที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ใช้วิธีการเผาไร่มากถึงร้อยละ 70 ในระยะเวลา 2 อาทิตย์ที่ผ่านมามีการเผาไร่อ้อยไปแล้วกว่าร้อยละ 50 จากพื้นที่ทั้งหมด 200,000 ไร่
ซึ่งช่วงเวลาที่มีการเผามากที่สุด คือช่วงเวลาเช้า-เย็น ทำให้ตลอดทั้งวันมีควันลอยอยู่ในอากาศพร้อมกับผงขี้เถ้าใบอ้อย ปลิวลอยตกตามบ้านเรือนต่าง ๆ สร้างความรำคาญและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในฤดูหีบอ้อยนี้ ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบทุกปี ตั้งแต่เดือน ธ.ค. - เม.ย.
ถึงแม้หน่วยงานในพื้นที่จะมีการรณรงค์ให้ลดการเผาและหันมาเพิ่มรายได้จากการตัดอ้อยสดขายที่จะได้ราคาดีกว่าอ้อยไฟไหม้โดยจะต้องใช้รถตัดแทน แต่ที่ผ่านมายังไม่เป็นผล เกษตรกรยังคงใช้วิธีการเดิมและยอมให้โรงงานหักเงินค่าอ้อยไฟไหม้ ตันละ 30-50 บาทเพื่อเป็นค่าทำความสะอาด
ขณะที่ประกาศจากนายกรัฐมนตรีห้ามไม่ให้มีการเผาหญ้า ตอซังข้าว และอ้อย ในพื้นที่เกษตรโดยเด็ดขาด เพื่อต้องการที่จะลดปัญหาฝุ่นควันแต่ดูเหมือนจะขัดกับการดำเนินชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ อ.ด่านช้าง แห่งนี้
เกษตรกรอ้างว่า หากไม่มีการเผาไร่อ้อย แรงงานก็จะไม่ตัดอ้อยให้ทำให้อ้อยอายุเกินและค่าน้ำตาลไม่ได้มาตรฐานซึ่งการเผาไร่
ขณะที่คนงานอ้างว่าจะสามารถตัดอ้อยได้เร็วกว่าตัดอ้อยสดถึง 3 เท่าตัว และประหยัดเวลาได้มาก
ปัจจุบันผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลบางแห่งได้มีการนำรถมาให้เกษตรกรได้เช่าตัดอ้อยบางส่วนแล้ว โดยในพื้นที่ อ.ด่านช้าง มีรถตัดอ้อยกว่า 80 คัน โดยรถตัดอ้อย 1 คัน สามารถตัดอ้อยได้ 300 ตัน ต่อวัน แต่เมื่อนำมาใช้ตัดอ้อยจริงพบพื้นที่ไร่ยังไม่เอื้ออำนวยทำให้รถไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร