ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สธ.แนะใช้หลัก 8 กระบวนท่าเลือกอาหารช่วงตรุษจีน

สังคม
1 ก.พ. 62
13:33
1,203
Logo Thai PBS
สธ.แนะใช้หลัก 8 กระบวนท่าเลือกอาหารช่วงตรุษจีน
กระทรวงสาธารณสุข แนะการเลือกอาหารสำหรับเทศกาลตรุษจีน ให้อิ่มบุญ ปลอดโรค ปลอดภัย ใช้หลัก 8 กระบวนท่า "เลือก ล้าง ปรุง ไหว้ ลด เก็บ อุ่น กิน"

วันนี้ (1 ก.พ.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค แถลงข่าว "สธ.ชวนคนไทย อิ่มบุญ ปลอดโรค ปลอดภัย เทศกาลตรุษจีน ปี 2562" ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ซึ่งวันตรุษจีนปีนี้ตรงกับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562

นพ.สุขุม เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีน ประชาชนจะซื้ออาหาร เครื่องไหว้ ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ สำหรับไหว้เทพพระเจ้าและบรรพบุรุษ การปรุง การเก็บอาหาร ต้องคำนึงถึงความสะอาด ปลอดโรค ปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันดูแลความปลอดภัยด้านอาหาร โดยเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการอาหารที่นิยมเตรียมสำหรับเทศกาลตรุษจีนทุกปี เฝ้าระวังสารปนเปื้อน 6 ชนิดด้วยชุดทดสอบ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างจากแหล่งจำหน่าย เช่น ตลาดสด ตลาดนัด ซุปเปอร์มาร์เก็ต และเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพ เช่น โรคอาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง ไข้หวัดนก รวมทั้งให้ความรู้ประชาชนในการเลือกซื้ออาหารสด อาหารแห้ง การเตรียม การปรุง และการเก็บอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ให้ประชาชนปลอดโรคและภัยสุขภาพ แนะนำให้อ่านฉลากก่อนซื้อ และเลือกของไหว้หรือเครื่องปรุงรสที่ได้รับการรับรอง "สัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกเพื่อสุขภาพ" เพื่อให้ประชาชน อิ่มบุญ ปลอดโรค และปลอดภัย ในช่วงเทศกาลตรุษจีน

 

 

 

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการเตรียมอาหารและเครื่องไหว้ ทั้งเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ขนม หรืออาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว เช่น ไก่ต้ม เป็ดต้ม หมูต้ม ขอให้ปฏิบัติตามหลัก 8 กระบวนท่า "เลือก ล้าง ปรุง ไหว้ ลด เก็บ อุ่น กิน" ในช่วงวันจ่าย "เลือก ล้าง ปรุง" โดยเลือกซื้ออาหาร เครื่องไหว้ จากตลาดสดน่าซื้อ หรือร้านค้าที่มีป้ายสัญลักษณ์รับรองจากหน่วยงานราชการ การวางจำหน่ายและเก็บรักษาถูกสุขลักษณะ เนื้อสัตว์ประเภทเป็ด ไก่ หมู ดิบ มีสภาพปกติ เนื้อแน่น ไม่ซีดหรือมีจ้ำเขียวๆ ผิวตึง ไม่มีกลิ่นผิดปกติ ผักและผลไม้ สะอาด ไม่มีคราบดินหรือคราบขาวของสารกำจัดศัตรูพืช เลือกขนมที่สีไม่ฉูดฉาด มีกลิ่นและรสปกติ บรรจุในภาชนะที่สะอาด อาหารปรุงเสร็จเช่น ไก่ต้ม เป็ดต้ม หมูต้ม มีเนื้อแน่น สีสดสม่ำเสมอ ไม่มีกลิ่นผิดปกติ การวางจำหน่าย การเก็บรักษา และบรรจุภัณฑ์ถูกสุขลักษณะ ล้าง ให้สะอาดทั่วถึง เนื้อสัตว์ต้องล้างให้สะอาด 2-3 ครั้ง ส่วนผัก ผลไม้ ควรล้างให้สะอาดด้วยวิธีที่จะลดสารพิษตกค้างจากสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เช่น ล้างด้วยน้ำไหลผ่านจะช่วยลดสารตกค้างได้ร้อยละ 25-65 หากต้องการล้างปริมาณมากให้ใช้น้ำส้มสายชู อัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ผัก ผลไม้ ทิ้งไว้ 10 นาที แล้วล้างน้ำสะอาด จะช่วยลดสารตกค้างได้ร้อยละ 60-84 หรือล้างด้วยผงฟูหรือเบคกิ้งโซดาในอัตราส่วน 1/2 ซ้อนโต๊ะต่อน้ำ 10 ลิตรแช่ทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วล้างน้ำสะอาด จะช่วยลดสารตกค้างได้ร้อยละ 90-95 ปรุง อาหารให้สุกด้วยความร้อน

ส่วนช่วงวันไหว้ "ไหว้ ลด เก็บ" โดยขณะไหว้ ระวังไม่ให้เถ้าของธูปตกลงบนอาหารปรุงสุก และเก็บขี้เถ้าธูปให้ถูกวิธี ลดจำนวนเครื่องไหว้แบบเผาลง ควรใช้ธูปสั้นและขนาดเล็ก หลีกเลี่ยงการสูดควันธูปเป็นเวลานาน เก็บ อาหารปรุงสุกจากการไหว้เจ้าควรรับประทานให้หมดภายใน 1 วัน ที่เหลือเก็บใส่ตู้เย็น ไม่เก็บนานเกิน 3-5 วัน สำหรับช่วงวันเที่ยวและหลังวันเที่ยว "อุ่น กิน" อุ่น ให้ร้อนทั่วถึง หรือปรุงใหม่อีกครั้ง เช่น ไก่ต้ม เป็ดต้ม หมูต้ม ส่วนขนมไหว้ เช่น ขนมเทียน ขนมเข่งควรอุ่นให้ร้อนหรือนึ่งใหม่ก่อนรับประทาน และกิน ก่อนรับประทานควรสังเกตสี กลิ่น ลักษณะของอาหาร ในการเดินทางท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ควรเลือกรับประทานอาหารจากร้านที่มีป้าย "อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (clean food good taste)" และควรล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานทุกครั้ง

 

 

 

นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้เฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการอาหารที่นิยมเตรียมสำหรับเทศกาลตรุษจีนทุกปี โดยการเก็บตัวอย่างจากแหล่งจำหน่ายทั่วประเทศ เช่น ตลาดสด ตลาดนัด ซุปเปอร์มาร์เก็ต 6,000 ตัวอย่าง ตรวจสารปนเปื้อน 6 ชนิดด้วยชุดทดสอบ ได้แก่ สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช สารบอแรกซ์ กรดซาลิซิลิค ฟอร์มาลิน ไฮโดรซัลไฟต์ และน้ำมันทอดซ้ำ ผลการตรวจมีการปนเปื้อนต่ำมาก พบร้อยละ 0-1.0 สำหรับผลการตรวจสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ที่นิยมรับประทานในช่วงเทศกาล ทั้งผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการ พบการตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชร้อยละ 5.9 ซึ่งมีแนวโน้มการปนเปื้อนลดลงจากร้อยละ 8.3

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย.ได้จัดทีมหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหารเพื่อให้คำแนะนำในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร ณ สถานที่จำหน่ายทั่วประเทศ สำหรับของไหว้ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายควรเลือกซื้อที่มีการแสดงฉลากอย่างชัดเจน อย่างน้อยแสดงชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของสถานที่ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ หรือชื่อและที่ตั้งผู้นำเข้าและประเทศผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิ ส่วนประกอบที่สำคัญเป็นร้อยละของน้ำหนัก วันเดือนและปีที่ผลิต และวันเดือนและปีที่ควรบริโภคก่อนหรือหมดอายุ มีการเก็บรักษาที่อุณหภูมิที่เหมาะสม เป็นต้น โดยสามารถตรวจสอบเลข อย. ได้จากแอปพลิเคชัน "อย. ตรวจเลข" หรือ Line: @FdaThai และเนื่องจากของไหว้ส่วนใหญ่มักจะนำมารับประทานหรือประกอบอาหารเก็บไว้ทานมื้ออื่นต่อไป เพื่อสุขภาพที่ดี ควรมองหาผลิตภัณฑ์หรือเครื่องปรุงรสที่ได้รับการรับรอง "สัญลักษณ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพ" เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ให้อิ่มบุญ ปลอดโรค และปลอดภัยในช่วงเทศกาลตรุษจีน หากพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารที่สงสัยว่าจะไม่ปลอดภัยขอให้แจ้ง สายด่วน อย. 1556 หรือ Line: @FdaThai หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อติดตามตรวจสอบต่อไป

 

 

 

พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้เฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพในช่วงเทศกาลตรุษจีน ได้แก่ โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง ซึ่งพบว่าสถานการณ์ใกล้เคียงกับเดือนอื่นๆ มีแนวโน้มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย สำหรับโรคไข้หวัดนก กระทรวงสาธารณสุขของไทย ยังไม่พบรายงานการติดเชื้อโรคไข้หวัดนกในคนตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดดำเนินงานตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค โดยเน้นการประสานความร่วมมือแบบบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับในพื้นที่ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน ในการส่งเสริมความตระหนักของประชาชน ในการป้องกันตนเองและประสานงานอย่างใกล้ชิด ประชาชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง