วันนี้ (7 ก.พ.2562) ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) เปิดตัวเลนฉุกเฉิน บริเวณ ถนนสีลม ตั้งแต่แยกนรารมย์ ถึงโรงพยาบาลเลิดสิน หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีแนวคิดจัดช่องเดินรถฉุกเฉิน ผ่านคณะกรรมการบูรณาการ ประสานงานกรณีกู้ชีพฉุกเฉิน
สำหรับช่องเดินรถฉุกเฉินนี้ เป็นการออกแบบการจราจรเพื่อแก้ไขปัญหาการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินและการช่วยเปิดทางสำหรับรถกู้ชีพฉุกเฉิน โดยเริ่มดำเนินการตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาปี 2559 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง สะพานข้ามแยกดินแดง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนราชวิถี 13 สิ้นสุดที่โรงพยาบาลราชวิถี
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ระบุว่า ช่องทางเดินรถฉุกเฉินมีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน เนื่องจากทุกวินาที คือ ชีวิต จากการทดลองช่องเดินรถฉุกเฉินนำร่องบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พบว่า สามารถลดเวลาปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินได้เฉลี่ยถึง 4 นาที ซึ่งเวลา 4 นาทีนี้ สามารถทำให้สมองขาดออกซิเจนได้ หากไปถึงโรงพยาบาลไม่ทัน ดังนั้น ช่องทางดังกล่าวจึงมีความสำคัญมาก
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.
ส่วนโครงการจัดช่องเดินรถฉุกเฉินในปี 2562 ดำเนินการต่อเนื่องจากพื้นที่นำร่องเพิ่มอีก 4 เส้นทาง ได้แก่
- ถนนสีลม ตั้งแต่แยกนรารมย์ ถึงโรงพยาบาลเลิดสิน
- ถนนเสือป่า ตั้งแต่แยกเสือป่า ถึงโรงพยาบาลกลาง
- ถนนยุคล ตั้งแต่ถนนบำรุงเมือง ถึงโรงพยาบาลกลาง
- ถนนตก ตั้งแต่แยกถนนตก ถึงโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
ถึง รพ.เร็วขึ้น 4 นาที เพิ่มโอกาสผู้ป่วยรอดชีวิต
นพ.พรเทพ แซ่เฮ้ง ผู้อำนวยการศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ระบุว่า ในทุกวันมีผู้ป่วยฉุกเฉินอยู่ตลอด ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการรณรงค์เรื่อง "ให้ทาง เท่ากับช่วยชีวิต" พบว่า เมื่อรถพยาบาลผ่านบริเวณใดประชาชนก็จะให้ความร่วมมือหลีกทางให้เสมอ โดยโรงพยาบาลที่เลือกนำร่องทั้ง 4 โรงพยาบาล เป็นโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยฉุกเฉิน และอยู่ในพื้นที่รถติด
นพ.พรเทพ แซ่เฮ้ง ผู้อำนวยการศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ)
ปัญหาที่พบ คือ บริเวณหน้าโรงพยาบาลมีรถติดหนาแน่น บางครั้งประชาชนไม่ทราบว่าต้องหลีกไปทางใด เนื่องจากไม่ได้ทำช่องทางเฉพาะไว้ เราจึงทำเลนแดง เป็นช่องทางสำหรับเข้าโรงพยาบาลในระยะทาง 2 กิโลเมตร
จากสถิติระยะเวลาในการออกปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินในเส้นทางนำร่องโรงพยาบาลราชวิถี ทำได้รวดเร็วมากขึ้น ทั้งระยะเวลาจากโรงพยาบาลไปถึงที่เกิดเหตุ และระยะเวลาจากที่เกิดเหตุกลับโรงพยาบาล โดยในปี 2558 ระยะเวลาจากโรงพยาบาลไปถึงที่เกิดเหตุ ใช้เวลาเฉลี่ย 12.30 นาที ปี 2559 ใช้เวลา 11.47 นาที และ ปี 2560 ใช้เวลา 10.93 นาที ส่วนระยะเวลาจากที่เกิดเหตุกลับโรงพยาบาลในปี 2558 ใช้เวลา 11.31 นาที ปี 2559 ใช้เวลา 10.41 นาที และปี 2560 ใช้เวลา 9.89 นาที
จะเห็นได้ว่าเวลาเฉลี่ยจากจุดเกิดเหตุถึงโรงพยาบาลลดลงอย่างน้อย 2 นาที ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเลนฉุกเฉินนี้ ช่วยให้ผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลได้เร็วขึ้น โอกาสรอดชีวิตก็เพิ่มขึ้น
ขณะที่ตัวเลขการออกปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน ของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ร่วมกับเครือข่ายโรงพยาบาลภาครัฐ และเอกชน จำนวน 52 แห่ง และ 8 มูลนิธิ ดำเนินการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ในปี 2561 จำนวน 79,054 ครั้ง และพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2557
ปี 2557 จำนวน 41,756 ครั้ง
ปี 2558 จำนวน 52,366 ครั้ง
ปี 2559 จำนวน 62,549 ครั้ง
ปี 2560 จำนวน 72,011 ครั้ง
ปี 2561 จำนวน 79,054 ครั้ง
3 ขั้นตอน เมื่อต้องหลีกทางรถพยาบาลบนเลนฉุกเฉิน
นพ.พรเทพ แนะนำขั้นตอนสำหรับประชาชนเมื่อพบรถฉุกเฉินในเส้นทางที่มีช่องทางเดินรถฉุกเฉิน
- เมื่อได้ยินเสียงไซเรน ประชาชนผู้ขับขี่รถบนท้องถนนต้องตั้งสติ
- มองช่องทางขับรถว่าเป็นช่องทางเดินรถฉุกเฉินหรือเลนแดงที่มีสัญลักษณ์วงกลมสีแดง กากบาทสีขาวหรือไม่
- เมื่อพบว่าตนเองขับอยู่เลนแดงให้ตัดสินใจเบี่ยงไปทางซ้ายหรือทางขวาก็ได้ เพื่อเปิดทางให้รถพยาบาล และทิ้งช่วงระยะห่าง 50-60 เมตร จากรถพยาบาล
ทั้งนี้ ช่องทางเดินรถฉุกเฉินจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันเวลา และไม่กระทบต่อการจราจรของผู้ใช้รถตามปกติ แต่หากมีรถฉุกเฉินกำลังวิ่งปฏิบัติหน้าที่ขอทางมา รถทุกคันต้องหลบให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อนในช่องทางรถฉุกเฉิน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน