เมื่อวันที่ (9 ก.พ.2562) นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เลขานุการคณะอนุกรรมการกลั่นกรองนำเรือประมงออกนอกระบบ แถลงภายหลังประชุม ว่า ที่ประชุมมีมติจ่ายชดเชยชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากจากการจัดระเบียบประมงไอยูยูล็อตแรก 305 ลำ หลังจากนี้จะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนและนำเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินคณะที่ 5 จากนั้นจะเสนอรายละเอียดการชดเชย และงบประมาณให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติโดยเร็ว เบื้องต้นกำหนดให้นำภาพถ่ายเรือปี 2558 เป็นหลักฐานการประเมินมูลค่าการชดเชยแต่รัฐบาลจะชดเชยให้ไม่เกินร้อยละ 50 โดยเจ้าของเรือจะได้รับเงินชดเชยไปก่อน ร้อยละ 30 ของมูลค่าเรือโดยต้องทำลายเรือ ซึ่งเครื่องยนต์และโครงสร้างเรือให้สิทธิ์เจ้าของนำไปขายได้ เมื่อจบกระบวนการทำลายแล้วจึงจะได้รับเงินชดเชยที่เหลืออีกร้อยละ 70
ส่วนเรือเหล็กที่ต้องชดเชย64 ลำ นายอดิศร ระบุว่า คณะทำงานจะพิจารณาต่อจากการชดเชยเรือไม้ โดยจะเร่งวางหลักเกณฑ์ที่รอบคอบเนื่องจากการทำลายเรือเหล็ก ต้องใช้ต้นทุนสูง ส่วนเรือประมงพาณิชย์ที่มีใบอนุญาตแต่ต้องการออกนอกระบบแจ้งความจำนงแล้ว 2,513 ลำ กลุ่มนี้รัฐบาลจะกำหนดรายละเอียดการชดเชยหลังจากดำเนินการเรือไม้ชุดแรกแล้วเสร็จ
ด้านนายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร ยังกังวลว่าขั้นตอนการดำเนินงานอาจล่าช้าออกไปเพราะกำลังมีการเลือกตั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจต้องรอรัฐบาลใหม่