ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"พาราควอต" คืออะไร ทำไมต้องขอแบน?

สิ่งแวดล้อม
18 ก.พ. 62
10:42
52,177
Logo Thai PBS
"พาราควอต" คืออะไร ทำไมต้องขอแบน?
หลังการเรียกร้องแบน "พาราควอต" หรือ ยาฆ่าหญ้ายอดนิยมไม่เป็นผล เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่ยกเลิกการใช้ "พาราควอต" โดยต้องรอพิจารณาอีก 2 ปี หรือจนกว่าจะหาสารอื่นแทนได้ ไทยพีบีเอสออนไลน์ชวนมาทำความรู้จักกับ "พาราควอต" ทำไม 53 ประเทศทั่วโลกถึงสั่งแบน

"พาราควอต" สารเคมีกำจัดวัชพืช มีคุณสมบัติทำลายการสังเคราะห์แสงของใบไม้เมื่อฉีดพ่นไปโดนส่วนที่เป็นใบเขียวจะทำให้วัชพืชเหี่ยวและตายไป โดยกลไกการทำงานของพาราควอตนั้น กำจัดเฉพาะศัตรูพืชเท่านั้นไม่มีฤทธิ์ทำลายระบบรากและโคนต้น

ด้วยคุณสมบัติที่มีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนที่ต่ำจึงทำให้เกษตรกรนิยมใช้พาราควอตอย่างกว้างขวาง โดยในปี 2560 ไทยนำเข้าพาราควอตถึง 44,501 ตัน มูลค่า 3,816 ล้านบาท นับเป็นมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในไทย


300 องศาฯ ยังกำจัดพาราควอตไม่ได้ 

สถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่า จากการตรวจสอบการปนเปื้อนสารของสารพิษบนพื้นที่ต้นแม่น้ำน่านในช่วงฤดูเพาะปลูก พบว่า จากตัวอย่างน้ำผิวดินพบพาราควอตปนเปื้อน 64 ตัวอย่าง จาก 65 ตัวอย่าง ส่วนน้ำใต้ดินพบพาราควอต 13 แห่ง จากตัวอย่าง 15 แห่ง สารที่ตกค้างยังสามารถแพร่กระจายต่อไปยังพืชสัตว์และแหล่งน้ำอื่นๆ ได้

โดยการตรวจสารตกค้างของผัก ผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างค้าปลีกของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบสารพาราควอตในผักผลไม้ในระดับเกินมาตรฐานสูงถึง 38 ตัวอย่างจาก 76 ตัวอย่าง


มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ได้เผยแพร่ข้อมูล โดยระบุว่า รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร อธิบายเรื่องนี้เชื่อมโยงถึงผู้บริโภคได้ชัดเจนว่า การสะสมของพาราควอตในผัก ผลไม้ไม่สามารถล้างออกได้ ต่อให้เอาผักไปต้มก็กำจัดไม่ได้เช่นกัน เพราะจุดเดือดของพาราควอตสูงถึง 300 องศาเซลเซียส เราทุกคนจึงมีโอกาสรับพาราควอตเข้าสู่ร่างกายผ่านการบริโภคพืชผักผลไม้เหล่านั้น

นอกจากนี้การศึกษาของนักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างที่ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ในเดือน ธ.ค.2560 ตรวจพบสารพาราควอตในผักที่ปลูกในท้องถิ่นทุกตัวอย่าง ได้แก่ พริกแดง กระเพรา คะน้า ชะอม

 

เสี่ยงโรคอันตรายจาก "พาราควอต"

นอกจากนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังได้เผยแพร่รายงานการวิจัยเมื่อปี 2560 ซึ่งค้นพบกลไกที่พาราควอต ทำลายเซลล์ประสาทจากการสร้างอนุมูลอิสระพิษ และงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่พิสูจน์แล้วว่า พาราควอตสามารถเข้าสู่สมองส่วนกลางของสัตว์ทดลองได้ รวมถึงงานวิจัยทางระบาดวิทยาในต่างประเทศที่ชี้ว่า พาราควอตเพิ่มโอกาสการเป็นพาร์กินสันร้อยละ 67-470 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง เปิดใจ คนเปื้อนสาร (พิษ) จนเสียขา

อีกทั้งการใช้พาราควอตในประเทศไทยยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังมารดาและทารกด้วยโดยงานวิจัยของ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบการตกค้างของพาราควอตในในซีรัมมารดาและสายสะดือทารกมากถึงร้อยละ 17-20

จากการประเมินของนักวิจัยพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติการขุดดินในพื้นที่เกษตร มีความเสี่ยงในการตรวจพบพาราควอตคิดเป็น 6 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีการขุดดิน และการตรวจพบพาราควอตในขี้เทาของทารกแรกเกิดคือหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า พาราควอตในร่างกายแม่ถูกส่งต่อถึงลูกในท้องด้วย ด้วยเหตุนี้ปัจจุบันจึงมี 53 ประเทศทั่วโลกสั่งแบนพาราควอตแล้ว


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่ยกเลิกการใช้ "พาราควอต" สารเคมีอันตรายสำหรับกำจัดวัชพืช โดยจะมีการประชุมพิจารณาประเด็นนี้อีกครั้งภายในวันที่ 1 ม.ค.2564 แต่หากสามารถหาสารทดแทนได้ก็จะยกเลิกก่อน 2 ปี ซึ่งต้องจับตากันต่อไปว่า "พาราควอต" จะอยู่คู่เกษตรกรไทยต่อไปอีกนานเท่าใด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง