วันนี้ (19 ก.พ.2562)นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า ปรากฎการณ์ซูเปอร์ฟูลมูน หรือดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในปีนี้ ซึ่งตรงกับคืนวันมาฆบูชา โผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออก สังเกตเห็นได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:15 น.
ปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ที่ระยะห่างประมาณ 356,836 กิโลเมตร หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี จะมีขนาดใหญ่กว่า 14% และสว่างกว่า 30%สร้างความตื่นตากับประชาชนและเยาวชนจำนวนมากที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มใกล้โลกที่สุดในรอบปี ทั้ง 4 จุดสังเกตการณ์
ได้แก่ หอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และ บริเวณลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา จ.สงขลา ต่างพากันชมดวงจันทร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์หลายรูปแบบ จดจ้องรายละเอียดหลุมอุกกาบาตและภูเขาบนดวงจันทร์ พร้อมบันทึกภาพความสวยงามของดวงจันทร์ด้วยความตื่นเต้น
ด้านโรงเรียนเครือข่ายในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 77 จังหวัด ที่รับมอบกล้องโทรทรรศน์จากสดร. ได้นำกล้องโทรทรรศน์มาจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี เชิญชวนนักเรียนและชุมชนรอบข้างร่วมชมดวงจันทร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ คึกคักไม่แพ้กัน
แม้ว่าดวงจันทร์จะโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือน แต่อาจไม่ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง สำหรับ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ครั้งต่อไปตรงกับวันที่ 8 เม.ย.2563 ห่างประมาณ 357,022 กิโลเมตร