วันนี้ (28 ก.พ.2562) เฟซบุ๊ก Nantarika Chansue โพสต์ข้อความหลังจาก รศ.สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์ข้อความว่า เหยื่ออีกรายหนึ่งของขยะทะเล โชคดีที่เจ้าTrashy มาเกยตื้นแล้วมีสัตวแพทย์ของ ทช Pornthipa Hardwises จากสงขลาไปรับมาดูแล ไม่กินไม่ถ่ายมาเดือนนึงแล้ว โทรมมาก หมอจึงพาไปถ่ายเอ็กซเรย์ รวมทั้งนำส่งมาที่จุฬา ร่วมกับน้องหมอทีม ทช. อีก 4 ท่าน
ทางศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาร่วมกับ อาจารย์หมออ๊อป Pasakorn Brikshavana หมอศัลยกรรมมือทองคำและทีมศัลย์ มาช่วยกันวางยาสลบและผ่าตัดสำเร็จ ใช้เครื่อง endoscope , suction, EKG, เครื่องช่วยหายใจ และนิ้วมือ ครบ
ต้องกราบขอบคุณทุกคนแทนเจ้า Trashy จริงๆค่ะ ใช้หมอไป 14 คน กับอีกครึ่งวัน ไม่นับค่าวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ ค่า X-ray CT และค่าเดินทาง 3 วัน คิดแล้ว... ยังไงก็ไม่คุ้ม มาช่วยกันเอาขยะออกจากสิ่งแวดล้อมเถอะค่ะ และใครสนใจทำบุญอุปกรณ์การแพทย์ให้ ทช. จะขออนุโมทนาอย่างสูง
#เลิกเอาซั้งเชือกไปให้เต่าแทะในทะเลนะคะ
ภาพ : Nantarika Chansue
ไทยเตรียมเจ้าภาพประชุมขยะทะเล 5 มี.ค.นี้
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ในปีนี้ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล วันที่ 5 มี.ค.นี้ เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญที่ประชาคมโลกกำลังให้ความสำคัญ เพราะขยะที่ลอยจากฝั่งออกสู่ท้องทะเล และขยะที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางทะเลต่างๆ โดยเฉพาะขยะพลาสติกสร้างปัญหาอย่างมาก
ขยะทะเล เป็นสาเหตุหลักทำให้สัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ บาดเจ็บหรือตาย สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ กระทบแนวปะการัง ทำลายทัศนียภาพของชายหาด และการท่องเที่ยวของหลายประเทศ
นายจตุพร กล่าวว่า ถือเป็นการเปิดโอกาสให้อาเซียนมีเวทีหารือและหาแนวทางที่เป็นรูปธรรมด้านการต่อสู้กับขยะทะเลและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนและภาคีผู้สนับสนุน เกี่ยวกับจัดการกับปัญหาขยะทะเลในภูมิภาคอย่างสอดคล้องกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานะของขยะทะเล และความคิดริเริ่มของประเทศสมาชิกอาเซียนด้านมลพิษ จากขยะทะเลในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก
คาดหวังว่าจากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเลแล้วเสร็จ ประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะสามารถพัฒนากรอบหรือแนวทางปฏิบัติการบริหารจัดการแก้ปัญหาขยะทะเลในระดับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันให้เกิดแผนปฏิบัติการอาเซียน เพื่อการบริหารจัดการขยะทะเลโดยเฉพาะ และผลักดันให้ทุกประเทศในอาเซียนมีแผนปฏิบัติการในระดับประเทศและติดตามผลเป็นระยะๆ
ภาพ : Nantarika Chansue
ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีนี้ พบสัตว์ทะเลหายากตายจากการกินขยะและเศษเครื่องมือทำประมงเฉลี่ย 300 กว่าตัวต่อปี โดยแบ่งเป็นการกินร้อยละ 60 จะเป็นพวกโลมาและวาฬ ส่วนพวกเต่าพบปัญหาขยะในทะเลติดพันขาและตามลำตัวสูงถึงร้อยละ 70 ล่าสุดพบปลาทะเลติดในถุงพลาสติก รวมทั้งมีการเผยแพร่คลิปการช่วยชีวิตเต่าที่มีหลอดติดในจมูก สร้างความสะเทือนใจกับผู้ที่ดูคลิปดังกล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สัตว์ทะเลหายาก วาฬ-เต่า ตายพุ่งเฉียด 300 ตัวต่อปีเหตุกินถุงพลาสติก
โชคดี! นักดำน้ำช่วยชีวิตปลารอดตาย "เหยื่อ" ถุงพลาสติก