ตัวแทนชาวบ้านในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ในการบริหารจัดการน้ำ เข้าร่วมสะท้อนปัญหาในเวที ส่งเสียงประชาชน:ไปให้ไกลกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ 3 ซึ่งศูนย์ข่าวภาคใต้ ฝ่ายเครือข่าย และชุมชนสัมพันธ์ไทยพีบีเอส และสภาผู้ชมและผู้ฟังไทยพีบีเอสจัดทำขึ้น เพื่อรับฟังข้อเสนอแผนพัฒนาภาคใต้ จากภาคพลเมืองต่อภาคการเมือง ที่ศาลาประชาคม อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุงในวันที่ 22 มกราคม 2562
นายฉิน บัวบาน เครือข่ายคัดค้านเขื่อนกั้นน้ำเค็มคลองปากประ จ.พัทลุง เห็นว่าภาคการเมืองจะต้องกระจายอำนาจ และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เข้ามาตัดสินใจทุกกระบวนการในโครงการต่าง ๆ เนื่องจากประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรที่แท้จริง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา การก่อสร้างโครงการต่าง ๆ มักถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง และไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินใจ เนื่องจากมีการรวมศูนย์อำนาจ ทั้งโครงการพัฒนาด้านพลังงาน โครงการบริหารจัดการน้ำ การถือครองในสิทธิที่ดินทำกิน ก่อให้เกิดความขัดแย้งเป็นวงกว้าง
นายประสิทธิชัย หนูนวล เครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์วิถีเมืองลุง กล่าวว่า ภาครัฐไม่ควรดำเนินนโยบายพัฒนาแบบเสื้อโหล โดยไม่มองบริบทของพื้นที่ หากภาคการเมืองต่าง ๆไม่มีการปรับตัวอีก 10 ปีข้างหน้า อาจถูกลบออกไปจากระบบ เนื่องจากประชาชนรับรู้ถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น และเกิดการตั้งคำถามกับนโยบายพัฒนาต่างๆ ทำให้กระบวนการตรวจสอบเข้มข้นมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งเสนอให้มีการจัดทำนโยบายเฉพาะในแต่ละท้องถิ่น รวมถึงให้อำนาจแก่ประชาชน ในการบริหารจัดการตนเอง เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่ จับมือไปกันได้กับภาคการเมือง
ตัวแทนภาคประชาสังคมบางส่วนมองว่า ภาครัฐไม่ควรดำเนินนโยบายพัฒนาแบบเสื้อโหล โดยไม่มองบริบทของพื้นที่ จึงอยากให้ภาคการเมืองจัดทำนโยบายเฉพาะท้องถิ่น ซึ่งหากภาคการเมืองไม่มีการปรับตัว ในอีก 10 ปีข้างหน้า อาจถูกลบออกไปจากระบบ เนื่องจากประชาชนเริ่มรับรู้ถึงสิทธิของตัวเอง และเกิดการตั้งคำถาม กับนโยบายพัฒนาของรัฐมากขึ้น
ด้านตัวแทนพรรคการเมืองจากพรรคอนาคตใหม่ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาชาติ และพรรคไทยรักษาชาติ ที่เข้าร่วมเวทีระบุว่า พรรคการเมืองต่าง ๆ รับทราบถึงความต้องการของประชาชน และพยายามอย่างมากที่จะจัดทำนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการ โดยเฉพาะการแก้กฎหมายที่ผูกขาดอำนาจจากส่วนกลาง พร้อมทั้ง เห็นว่าการจัดทำโครงการพัฒนาจะต้องรับฟังเสียงจากประชาชน มีการดำเนินการที่โปร่งใส และไม่ปกปิดข้อมูล
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่ภาคใต้มีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐหลายโครงการ เช่นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โครงการก่อสร้างท่าเรือ โครงการก่อสร้างเขื่อนและประตูระบายน้ำ โครงการพัฒนาพื้นทีเศรษฐกิจแลนด์บริจน์ ซึ่งเกือบทุกโครงการมักได้รับการต่อต้านจากภาคประชาสังคมบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย ทำให้ในเวทีเสวนาการกำหนดแผนพัฒนาภาคใต้จากภาคพลเมืองสู่ภาคการเมือ เป็นการสะท้อนความเดือดร้อน และความต้องการของประชาชาชนอย่างแท้จริงต่อภาคการเมืองที่จะเข้ามามีส่วนตัดสินใจในการดำเนินโครงการ เมื่ออำนาจกลับมาอยู่ในมือของประชาชนอีกครั้ง ผ่านการเลือกตั้ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฟังเสียงประชาชนใต้ : ชาวสวนยาง ขอหยุดขายฝัน-แก้ปัญหายางอย่างยั่งยืน
ฟังเสียงประชาชนใต้ : เยาวชนขอเสรีภาพ – ลดเหลื่อมล้ำการศึกษา - จัดหางาน