ในปัจจุบันพบว่าเกษตรกรพึ่งพิงปัจจัยการผลิตจากภายนอกเป็นส่วนมาก อาทิ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ที่ดิน แรงงาน เป็นต้น ส่งผลให้การลงทุนทำการเกษตรมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเกษตรกรยังไม่สามารถกำหนดราคาขายของสินค้าเกษตรได้ด้วยตนเองและขาดอำนาจในการต่อรองกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ จึงมักเป็นฝ่ายเสียเปรียบในตลาดอยู่เสมอ
วิถีดั้งเดิมที่ไม่อยากส่งต่อ
จากความเสียเปรียบของเกษตรกรในกลไกตลาดสู่ปัญหาหนี้สินที่ยากจะแก้ไข เหล่าเกษตรกรจึงเลือกที่จะผลักดันลูกหลานออกจากระบบเกษตร ให้ไปแสวงหาอาชีพอื่นที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าและรายได้ดีกว่า อาทิ แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ไปจนถึงภาคบริการและรับจ้าง ทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรในระดับครัวเรือน
นอกจากนี้ การดำรงชีวิตของเกษตรกรรายย่อยเป็นได้ไปอย่างลำบากมากยิ่งขึ้นในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจากในสภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพกลับสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรไทยยังคงจมอยู่กับปัญหาเดิมๆ อย่าง “หนี้สิน” จนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้
เมื่อเกิดปัญหาภาระหนี้สินในครัวเรือน ท้ายที่สุด เกษตรกรรายย่อยจึงตัดสินละทิ้งวิถีเกษตรและปล่อยที่ดินไปสู่มือของนายทุนมากขึ้น
รัฐ นายทุน ที่ดิน
จากนโยบายทวงคืนผืนป่าของภาครัฐไปจนถึงโครงการพัฒนาที่มีจุดประสงค์เพื่อดำเนินการกับนายทุนที่บุกรุกป่า แต่รัฐกลับเข้าไปทำลายที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อย รวมถึงพื้นที่ชุมชนดั้งเดิมที่ประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว
ซ้ำร้าย แผนพัฒนาพื้นที่เกษตรของชุมชนยังถูกเปลี่ยนมือไปสู่กลุ่มทุน กลายเป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวของเมือง อาทิ นิคมอุตสาหกรรม เหมืองแร่ใต้ดิน
โดยเฉพาะภาคอีสานที่มีเหมืองใต้ดินเกิดขึ้นกว่า 1 ล้านไร่ใน 10 จังหวัด ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาดินเค็ม น้ำเค็ม และดินทรุด
ทางเลือกของเกษตรกรไทยในวันที่ยังอยากไปต่อ
จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกษตรกรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่เพื่อความอยู่รอด แม้จะเป็นวิถีชีวิตที่ตัวเองแทบไม่มีทักษะหรือคุ้นเคยมาก่อนก็ตาม
ก่อให้เกิดการอพยพแรงงานของภาคเกษตรกรรมอย่างมากมายในทุกพื้นที่ของภาคอีสาน เนื่องจากวิถีเกษตรในปัจจุบันไม่สามารถเป็นรายได้หลักของครัวเรือนได้อีกต่อไป
ซึ่งแท้จริงแล้วเกษตรกรยังสามารถทำการเกษตรต่อไปได้โดยอาศัยการปรับตัว
ปรับลดจากการทำการเกษตรเพื่อเป็นรายได้หลัก เป็นการทำการเกษตรเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนในเรื่องของการซื้ออาหาร และยึดอาชีพอื่นเป็นรายได้หลักแทน
ยืนหยัดในการทำเกษตรต่อไปและมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด
โดยสามารถทำได้หลายวิธีการ อาทิ การทำเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรผสมผสานที่มีความยั่งยืนกว่าเกษตรเคมี การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในระบบการผลิต การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย การหมุนเวียนการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เพาะปลูก โดยสลับการปลูกพืชที่มีราคาดีตามฤดูกาล
ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ความยากจน
เชื่อว่าการพัฒนาจากฐานรากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ โดยจะต้องมีการสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น และทำเป็นระบบอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นระบบการแลกเปลี่ยน ระบบการผลิต หรือระบบการต่อรอง ซึ่งถือเป็นระบบที่สำคัญที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรไทยไร้อำนาจในการต่อรองกับกลุ่มทุนมาโดยตลอด
โดยเป้าหมายหลักของเศรษฐกิจท้องถิ่นคือเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างความเป็นธรรมจากเศรษฐกิจฐานราก โดยไม่ควรมองเศรษฐกิจแบบเศรษฐศาสตร์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ควรมองให้มีหลากหลายมุม อาทิ เศรษฐศาสตร์ชาวบ้าน และเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
หากชาวบ้านสามารถอธิบายความรู้ทางเศรษฐกิจในมุมของตัวเองได้ จะทำให้เกิดพลังความรู้ที่สามารถนำไปใช้ต่อรองได้
ในเรื่องของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ควรส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการทรัพยากร จากที่แต่เดิมรัฐเป็นคนจัดการ เพราะคนที่อยู่ใกล้ชิดทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดคือประชาชนในท้องถิ่นมิใช่รัฐ
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับฐานราก เพราะการแก้ปัญหาใดๆ ก็ตาม จะต้องเกิดจากการสร้างฐานให้มีความเข้มแข็งจึงจะแก้ปัญหาได้สำเร็จ
ทั้งนี้ กิจกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้เศรษฐกิจฐานรากจะต้องกลับมาสู่การสร้างฐานการผลิต ย้อนกลับมาสู่ชุมชน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเพียงการนำความสามารถของวัฒนธรรมชุมชนและทรัพยากรไปรับใช้การขยายตัวของทุนนิยมเท่านั้น
ที่มา: การเสวนา “ วิถีเกษตรอีสาน : ภาวะเศรษฐกิจที่เผชิญกับความท้าทายจากภายนอกและภายในประเทศ”
ให้เสียงประชาชนไปไกลกว่าการเลือกตั้ง
#เลือกตั้ง62